กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กกร.ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ 2559 พบว่าภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับทรงตัว โดยการใช้จ่ายภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนภาคส่งออกที่พลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ยังคงไม่ได้บ่งบอกถึงสัญญาณฟื้นตัวของภาคส่งออกอย่างชัดเจน เนื่องจากมีสาเหตุจากปัจจัยชั่วคราว จากส่งออกทองคำและรายการพิเศษ
ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐ ในภาพรวมสามารถเบิกจ่ายได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนงบลงทุนที่สามารถเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยอดเบิกสะสม 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้า
แม้การบริโภคภาคเอกชน ยังคงมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการ ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากการเร่งซื้อรถยนต์ไปในปีที่ผ่านมา และการลงทุนภาคเอกชนยังไม่แข็งแกร่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดติดต่อกันเป็นเดือนที่สองและอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่เพียงที่ร้อยละ 65.7 เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยว เป็นแรงขับเคลื่อนเดียวที่โดดเด่นต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ระดับ 3 ล้านคนเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน จากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 23 และเห็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวยุโรปชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการกลับมาขยายตัวของนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นเดือนแรก
ทั้งนี้ กกร. ประเมินว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ยังคงได้รับแรงกดดันจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าการส่งออกในปี 2559 ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.0 – 2.0 ต่ำกว่าจากเดิมคาดการณ์เป็นบวกอ่อนๆที่ร้อยละ 2.0 สอดคล้องกับทิศทางที่ชะลอลงของการค้าโลก นอกจากนี้ กกร. เห็นว่าการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกเป็นประเด็นที่สำคัญ ที่จะหนุนการฟื้นตัวของภาคส่งออกในระยะยาว
อย่างไรก็ดี แรงหนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐผ่านงบประมาณกลางปี และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ภาครัฐทยอยประกาศออกมา รวมทั้งการเร่งรัดผลักดันแผนลงทุนในเมกะโปรเจกต์ และแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว ทำให้ กกร. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังคงขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิมที่ร้อยละ 3.0-3.5 ภายใต้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระดับต่ำเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.0 -1.0
กกร. จะประสานงานกับ กรมสรรพากร เพื่อจัดอบรมให้ความรู้ และ ช่วยแนะนำ ผู้ประกอบการ SME ให้เข้าใจถึง การจัดทำ บัญชีเดียว ซึ่งมีผู้ประกอบการ ลงทะเบียน SME บัญชีเดียวกับกรมสรรพากร ถึง 507,635 ราย จากผู้ประกอบการทั้งหมด 6 แสนกว่าราย
กกร. จะนำเสนอภาครัฐให้ BOI มีนโยบายและมาตรการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีสากลได้มากขึ้น รวมทั้ง เสนอกรมสรรพากรในเรื่อง สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการ นำรายได้จากการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ กลับมาประเทศไทย
กกร. จะเสนอให้มีการปรับบทบาทของสมอ. ให้ทำหน้าที่เป็น regulator โดยกำหนดมาตรฐานสินค้าเพื่อป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพเข้ามาในประเทศไทย และปรับมาตรฐานสินค้าในประเทศไทยให้สอดคล้องกับนานาประเทศ (Standard Harmonization) และทำข้อตกลงการยอมรับร่วม (Mutual recognition) ในผลการตรวจสอบมาตรฐาน เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากมาตรการกีดกันสินค้าที่ไม่ใช่ภาษีและให้มีการว่าจ้างหน่วยงานอิสระหรือบริษัทเอกชนดำเนินการตรวจเช็คและรับรองสินค้า(Certify) ตามมาตรฐานที่ สมอ.กำหนด โดยมี สมอ. ทำหน้าที่กำกับดูแล