กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 27 จังหวัด แยกเป็น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 10 จังหวัด น้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 8 จังหวัด ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้ รวม 2,269 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้ง สูบน้ำจากแหล่งน้ำ เข้าพื้นที่การเกษตร เพิ่มเติมปริมาณน้ำดิบเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา น้ำอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น สำหรับสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือมี 4 จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่ง ปภ. ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นและลดปริมาณหมอกควันในอากาศ เพื่อมิให้สถานการณ์หมอกควันวิกฤตรุนแรง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายจังหวัดประสบปัญหาภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 27 จังหวัด 123 อำเภอ 540 ตำบล 4,223 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 5.63 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน สุรินทร์ ชัยนาท ชลบุรี ขอนแก่น สระบุรี พิจิตร ลำพูน ตรัง และตาก จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี จังหวัดที่มีปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบุรี อุตรดิตถ์ สตูล นคราชสีมา ตราด กระบี่ และนครศรีธรรมราช อีกทั้งจากการติดตามน้ำจากสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ รวม 2,269 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง รวม 16 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พร้อมจัดสรรน้ำอย่างรัดกุมมากที่สุด โดยให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รวมถึงให้วางแผน การนำน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ทดแทนแหล่งน้ำผิวดินที่มีปริมาณจำกัด โดยเฉพาะการขุดบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินเพียงพอ การประสานปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อน เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนให้เพียงพอต่อการจัดสรรน้ำในกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้ง โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร เพิ่มเติมปริมาณน้ำดิบเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา น้ำอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น สำหรับสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ จากการติดตามคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่าระหว่าง 79 – 239 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) มีค่าระหว่าง 75 – 152 โดยมี 4 จังหวัดที่มีคุณภาพอากาศอยู่ในระดับ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และพะเยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกล สาธารณภัยฉีดพ่นละอองน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นและลดปริมาณหมอกควันในอากาศ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา 30 สาขาใน 16 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th