กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--สภากาชาดไทย
ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมประชาสัมพันธ์เปิดตัวโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน (Industrial Zoning) ประจำปีงบประมาณ 2559 ณ ห้องราชเทวี 2 โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี พ.ศ. 2557 และปี พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วรวม 19 จังหวัด และในปี พ.ศ. 2559 ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 15 จังหวัด พร้อมส่งมอบผลการศึกษาให้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้กล่าวภายในงานว่า ภาคอุตสาหกรรม เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ นำรายได้เข้าสู่ประเทศ สร้างรายได้ให้กับคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร นักวิชาการ หรือเจ้าของกิจการ และยังผลักดันให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนเทคโนโลยีต่างๆ แต่ด้วยการเติบโตภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว รัฐเองก็อาจวางแผนและกำกับดูแลไม่ครอบคลุม เพียงพอ ประกอบกับผู้ประกอบการขาดความรับผิดชอบ ดังที่ปรากฏจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม หรือการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ หรือการแย่งการใช้น้ำ แย่งที่ดินทำกิน ซึ่งเหตุดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการที่มีอยู่เดิม รวมถึงการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่อนุญาตใหม่ หรือแม้แต่การควบคุมแบบเข้มงวดทุกพื้นที่ ก็ส่งผลกระทบต่อการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ หรือการขยายกิจการเช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว นักลงทุนย้ายฐานการผลิต ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุน และขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุน และสังคม โดยการศึกษาวางแผนพัฒนาและประเมินศักยภาพพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงความสมดุลในมิติต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือเรียกว่า การจัดโซนพื้นที่อุตสาหกรรม (Industrial Zoning) และมีการกำหนดรายละเอียดการบริหารจัดการในการอยู่ร่วมกันของโรงงานอุตสาหกรรมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามหลักวิชาการ และการมีส่วนรวมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมสามารถประกอบกิจการได้อย่างมีศักยภาพและอยู่ร่วมกับชุมชน ตลอดจนสังคมได้อย่างปกติสุข
นายอภิจิน โชติกเสถียร รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้กล่าวรายงานว่าโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการจัดเตรียมพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรม ลดการเกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยดำเนินการไปแล้วรวม 19 จังหวัด พร้อมทั้งได้ส่งมอบผลการศึกษาให้กับกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และมีเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนโครงการในปี 2559 จะดำเนินการศึกษาในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ราชบุรี ปทุมธานี หนองคาย ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่ และดำเนินการเตรียมข้อมูลเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมใน 2 จังหวัด คือ นครพนม นราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2