ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 43 ราย ยื่นข้อเสนอขอเงินสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ข่าวทั่วไป Friday October 19, 2001 09:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--สพช.
ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 43 ราย ยื่นข้อเสนอขอเงินสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน รวม 775 เมกะวัตต์ เป็นเงิน 6 พันล้านบาท
สพช. เผยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเนื้อหอม มีผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) เสนอตัวแล้ว 43 ราย รวม 775 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินในการสนับสนุน 6 พันล้านบาท ทั้งที่เป้าหมายเดิมตั้งไว้ 300 เมกะวัตต์ เงินสนับสนุนเพียง 2 พันล้านบาท
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2544 เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจลงทุนและผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานนอกรูปแบบ เชื้อเพลิงกาก เศษวัสดุเหลือใช้ ขยะมูลฝอยหรือไม้ หรือใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิง ได้ยื่นข้อเสนอกับ สพช. เพื่อขอการสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าไว้ โดย สพช. จะใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 2,060 ล้านบาทถ้วน จูงใจให้มีการลงทุนผลิตและขายไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น ซึ่ง สพช. คาดว่าเงินจำนวนดังกล่าวจะช่วยให้ กฟผ. สามารถรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้อีกประมาณ 300 เมกกะวัตต์
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้แผนงานภาคความร่วมมือ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่ สพช. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ โดยได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นด้วยเห็นว่า ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานนอกรูปแบบ กากหรือวัสดุเหลือใช้เป็นเชื้อเพลิงและการผลิตไฟฟ้าระบบ Cogeneration ซึ่งการใช้พลังงานนอกรูปแบบและต้นพลังงานพลอยได้ในประเทศให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น และเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและระบบจำหน่ายไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้า 45 ราย คิดเป็นพลังไฟฟ้าที่เสนอขายทั้งสิ้น 1,862.9 MW ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพียง 26 ราย คิดเป็นพลังไฟฟ้า 280 MW
เพื่อจูงใจให้มีการผลิตและขายไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น สพช. จึงได้เสนอให้มีโครงการนี้ขึ้น โดยใช้เงินจากกองทุนฯ สนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากอัตรารับซื้อไฟฟ้า ด้วยการเชิญชวนให้ผู้สนใจลงทุนและผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียนยื่นข้อเสนอขอรับเงินสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (ต่อหน่วยค่าพลังงานไฟฟ้า) ที่ต้องการ ซึ่งในการกำหนดอัตราสูงสุดที่กองทุนฯ จะให้การสนับสนุนได้ไม่เกิน 0.36 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 ปี นั้น สพช. ได้พิจารณาจากค่าผลประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดการจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน (Externality Benefit)
โครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องและคาดว่าจะต้องใช้เงินจากกองทุนฯ สนับสนุนเงินค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็กที่ใช้พลังงานหมุนเวียน รวม 2,060 ล้านบาท เมื่อประเมินผลและทราบชัดเจนถึงเงื่อนไขของการดำเนินงานที่เหมาะสมแล้ว สพช. จะได้จัดทำโครงการฯ ในระยะต่อไป
หลังจากที่ สพช. ได้มีประกาศดังกล่าว และกำหนดยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 15 ตุลาคม 2544 นั้น ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นข้อเสนอเป็นจำนวน 43 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 775 เมะวัตต์ และเมื่อรวมจำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 6 พันล้านบาท ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ สพช. กำหนดไว้
"ข้อเสนอต่างๆ ดังกล่าวมีการเสนอทางเลือกเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นการใช้เชื้อเพลิงจากชานอ้อยและแกลบ โดยมีผู้ใช้แกลบ 12 ราย รวม 245 เมกะวัตต์ ใช้ชานอ้อย 11 ราย รวม 72 เมกะวัตต์ ใช้เปลือกไม้ 1 ราย 20 เมกะวัตต์ ใช้แกลบผสมกับเปลือกไม้ 5 ราย รวม 181 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นยังมีแหล่งเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น น้ำมันยางดำ (Black Liquor) 2 ราย รวม 115 เมกะวัตต์ พลังน้ำ 3 ราย รวม 32 เมกะวัตต์ เหง้ามันสำปะหลัง 1 ราย 22 เมกะวัตต์ Combined cycle 1 ราย ก๊าซชีวภาพ 1 ราย และอื่นๆ เป็นต้น
โดยมีผู้ยื่นเสนอขายพลังไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน สูงสุด 90 MW รวม 2 ราย เป็นการใช้เชื้อเพลิงจากแกลบผสมกับเปลือกไม้ 1 ราย และน้ำมันยางดำ (Black Liquor) 1 ราย ส่วนรายที่เสนอขายพลังไฟฟ้าจำนวนต่ำที่สุดสำหรับการขอรับเงินสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (ต่อหน่วยค่าพลังงานไฟฟ้า) นั้น อยู่ในช่วงระหว่าง 0.01 - 0.36 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 0.2-0.3 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง โครงการส่วนใหญ่ได้เสนอที่จะเริ่มขายไฟฟ้าภายในปี 2546-2547 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นช่วงที่ปริมาณสำรองของระบบไฟฟ้าเริ่มจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 20%" เลขาธิการ สพช. กล่าว
ในการพิจารณาจ่ายเงินสนับสนุนตามโครงการฯ นี้ สพช. ได้เลือกใช้วิธีคัดเลือก เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีการใช้จ่ายเงินจากกองทุนฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะผู้เสนอขอรับเงินสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในอัตราเฉลี่ยตลอดอายุโครงการฯ (Average Levelized Adder) ต่ำสุด จะมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ก่อน ดังนั้นในวงเงิน 2,060 ล้านบาทที่เท่ากัน รัฐจะได้ปริมาณพลังไฟฟ้าที่มากกว่า โครงการนี้คาดว่าจะทราบผลการพิจารณาได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 และลงนามในสัญญาให้การสนับสนุนได้เรียบร้อยประมาณเดือนมีนาคม 2545--จบ--
-อน-
ตุลาคม 2544………………………………………………………………………………………………………………………ศูนย์ประชาสัมพันธ์รวมพลังหาร 2 โทรศัพท์ 0 2612 1555 ต่อ 201-5 โทรสาร 0 2612 1368121/1-2 ถ.เพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 www.nepo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ