กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) 2 ปี คสช.เปลี่ยนประเทศไทยอย่างไร? :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,081 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 มีนาคม - 2 เมษายน 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 35.5 ระบุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ร้อยละ 45.8 ระบุดีเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 7.9 ระบุแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 10.8 ระบุแย่ลง ทั้งนี้คะแนนคุณภาพชีวิตโดยเฉลี่ยเท่ากับ 7.55 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจและเป็นวัตถุประสงค์สำคัญของการสำรวจในครั้งนี้ คือการสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในการดำเนินชีวิตของคนไทย สังคมไทย และประเทศไทยโดยภาพรวมโดยพบว่าการเปลี่ยนแปลงที่เห็นว่าอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สามลำดับแรก ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ/การลดความแตกแยกของคนในประเทศ/ไม่มีการชุมนุม/การสร้างความปรองดอง/ประชาชนไม่มีการแบ่งฝ่าย/ความสามัคคีของคนในประเทศดีขึ้น/ไม่มีการทะเลาะกัน คิดเป็นร้อยละ 45.8 รองลงมาคือ การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น/ปัญหาทุจริตน้อยลง/ไม่มีการทุจริต คิดเป็นร้อยละ 36.7 ระบบการทำงานของข้าราชการเป็นระบบระเบียบมากขึ้น/การปรับปรุงระบบข้าราชการ/การเปลี่ยนแปลงขององค์กรตำรวจ/การปรับปรุงโครงสร้างภาครัฐ คิดเป็นร้อยละ 12.6 ทั้งนี้ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 10.3 ระบุไม่มีอะไรดีขึ้น
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เห็นว่าอยู่ในทิศทางที่แย่ลงในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สามลำดับแรก ได้แก่ ราคาสินค้าทางการเกษตรตกต่ำ คิดเป็นร้อยละ 56.9 คุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมแย่ลง คิดเป็นร้อยละ 44.7 และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแย่ลง คิดเป็นร้อยละ 23.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 42.7 ระบุไม่มีอะไรที่แย่ลง
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามถึง สิ่งที่อยากจะบอกกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากมีโอกาสได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวนั้น พบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 70.8 ระบุขอให้นายกฯทำหน้าที่ต่อไปนานๆ/อยากให้ดำรงตำแหน่งต่อเพื่อบ้านเมือง/อยากให้ดูแลประเทศต่อไป/อยากให้บริหารงานนานๆ/ทำตามบทบาทของท่านให้ดีและมีจุดยืนที่ชัดเจนและเด็ดขาด/ ยินดีที่ท่านจะอยู่เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาประเทศต่อ/อยากให้นายกฯ ทำงานราบรื่น/ให้ท่านตั้งใจทำงาน/อยากให้ท่านนายกฯ เดินหน้าพัฒนาประเทศให้เต็มที่/อย่าท้อให้สู้ไปเรื่อยๆ รองลงมาคือร้อยละ 43.8 ระบุว่า อยากให้หางานหารายได้ให้กับเกษตรกร/การประกอบอาชีพของประชาชน/อยากให้แก้ไขปัญหาการว่างงานของประชาชนเพราะแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศมากขึ้นทุกที/แก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน/แก้ไขปัญหาที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์/อยากให้ท่านรับรู้ปัญหาของเกษตรกร/อยากให้ท่านช่วยด้านเกษตรกรให้ทั่วถึง/หาอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร/การพัฒนาด้านอาชีพ ร้อยละ 13.2 ระบุปัญหาสินค้าเกษตรราคาแพงขึ้น/เรื่องราคาพืชผลทางการเกษตร/อยากให้แก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร/อยากให้เพิ่มราคาผลผลิตทางการเกษตร/ชดเชยเรื่องผลผลิตที่เสียหาย นอกจากนี้ ร้อยละ 11.5 ระบุอยากให้พัฒนาปัญหาแหล่งน้ำเร็วๆ/แก้ปัญหาภัยแล้ง/แก้ปัญหาแหล่งน้ำทำการเกษตร/อยากให้ท่านช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำ/อยากให้แก้ไขเรื่องอ่างเก็บน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ร้อยละ 9.3 ระบุ อยากให้เร่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้โดยเร็ว ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญสุดท้ายคือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงประเด็นสำคัญที่อยากให้นายกรัฐมนตรี รัฐบาล และ คสช. ได้เร่งชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน นั้นผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 40.4 ระบุเร่งชี้แจงเรื่องรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน/ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ส่วนใหญ่ประชาชนยังไม่เข้าใจ ร้อยละ 32.7 ระบุชี้แจงเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่าทำไมล่าช้า/เรื่องน้ำในการทำการเกษตร/แจกแจงเรื่องการหาแหล่งน้ำ/เรื่องน้ำในการทำการเกษตร ต้องเร่งอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ร้อยละ 20.9 ระบุชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายต่างๆให้รับทราบมากขึ้น/นโยบายการบริหารประเทศ/เรื่องการบริหารประเทศ ร้อยละ 10.7 ระบุชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร และ การจัดการเกษตรทั้งระบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน นอกจากนี้ ร้อยละ 9.0 ระบุสร้างความเข้าใจให้ประชาชนเห็นภาพเกี่ยวกับแนวทางประชารัฐ ร้อยละ 6.7 ระบุชี้แจงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ/ชี้แจงภาพรวมของเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง ตามลำดับ
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 86.7 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.3 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 6.8 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 29.4 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 63.8 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 29.7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 47.2 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.3 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 17.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 68.5 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 16.4 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ15.1 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัว พบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 10.0 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 17.3 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 22.7 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 50.0 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 33.0 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 25.0 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 19.0 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 14.1 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.9 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ
ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน โทรศัพท์ 086 – 971-7890 หรือ 02-540-1298
ติดตามผลสำรวจของมาสเตอร์โพลล์ได้ที่ www.masterpoll.net