กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
มูลนิธิสยามกัมมาจล
จากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงตั้งแต่ต้นปี 2559 ข่าวคราวที่ออกมาทางสื่อต่างๆ สะท้อนให้เห็นผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนทั้งการใช้น้ำในชีวิตประจำวัน และในการประกอบอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จากรายงานสถานการณ์น้ำ จากกรมชลประทานเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ชี้ว่า 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล,เขื่อนแควน้อยฯและเขื่อนป่าสักฯ) เหลือน้ำใช้การได้ถึงเดือนกรกฏาคม 2559 อีกประมาณ 2,694 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เห็นสถานการณ์น้ำอย่างชัดเจนว่ามีความวิกฤตเพียงใด มีข่าวการแย่งชิงน้ำในพื้นที่เพื่อทำการเกษตร มีภาพทางการต้องนำน้ำไปแจกจนกลายเป็นภาพชินตาและถึงเวลาแล้วหรือยังที่ "คนรุ่นใหม่" หรือ "คนเมือง" จะลุกขึ้นมามีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมแก้ไขสถานการณ์นี้ วันนี้ขอนำเสนอ 2 นักศึกษาได้แก่ น.ส.สุภาณี ลิ้มโรจน์นุกุล หรือ เนตร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนางสาวกชรัตน์ วิชิตนาค หรือแนท มหาวิทยาลัยบูรพา ตัวแทนจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network For Change : UNC) โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ (เป็นเครือข่ายขับเคลื่อนพลเมืองสร้างสรรค์ หรือ Thailand Active Citizen Network) พร้อมทั้ง อาจารย์ณรงค์ แรงกสิกร ข้าราชการบำนาญผู้ริเริ่มแนวคิดการฟื้นป่า บ้านธารมะยม เชิงเขาแม่กระทู้ ตำบลวังซ่าน อำเภอแม่วงก์ ซึ่งปัจจุบันชุมชนธารมะยมสามารถจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง ได้ร่วมสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ....
อาจารย์ณรงค์ แรงกสิกร ร่วมสะท้อนว่าภัยแรงปีนี้ ทำให้เห็นภาพสะท้อนกลับไปที่ชุมชนว่า..บางครั้งชุมชนก็ลืมไปว่าในอดีตตนเองมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเหลือเฟือได้อย่างไร มีที่เก็บน้ำตื้น บ่อปูนซิเมนต์ อย่างไร แต่พอวันนี้ มาได้รับความสะดวกสบายเรื่องการใช้น้ำ มีน้ำประปาเข้ามา มีหน่วยงานเข้ามาแจกน้ำ ก็ลืมบ่อน้ำเก่าๆ ในชุมชนของตนเองไป "บางพื้นที่ก็กลบไปหมดแล้ว ทำให้เกิดสภาวะน้ำใช้ในครอบครัวไม่มี เพราะเราอาศัยแต่น้ำตามธรรมชาติ พอมีคนเพิ่มขึ้น ก็ใช้น้ำเพิ่มขึ้น น้ำก็ไม่เพียงพอ เราก็ไม่ได้มีวิธีการจัดการน้ำที่ดีด้วยในปัจจุบัน คือเราไม่ได้มีการเตรียมตัวมาก่อนเลยว่าจะเกิดภัยแล้งขนาดนี้..."
แต่ที่ชุมชนบ้านธารมะยม ที่อาจารย์ณรงค์ ได้นำร่องวิธีการจัดการน้ำอย่างได้ผล ทำให้ปีนี้ ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้"ชุมชนธารมะยมได้เริ่มทำเรื่องนี้มากว่า 10 ปี พอเริ่มเห็นว่าจะมีปัญหาเรื่องน้ำ เรามองเห็นว่าเรามีพื้นที่เป็นภูเขา เราก็ไปทำฝายชะลอน้ำให้กักน้ำเอาไว้ให้น้ำซึมเข้าไปอยู่ในภูเขา จากนั้นเราขุดลอกคลอง ในคลองมีการสร้างฝายเว้นช่วงไว้ประมาณกิโล - 2 กิโล แบ่งพื้นที่น้ำของชุมชน พื้นที่น้ำของครอบครัว เราก็เก็บน้ำเอาไว้ในช่วงฤดูแล้ง แต่อย่างไรพวกเราก็ใช้น้ำอย่างประหยัด ...ภัยแล้งปีนี้ ชุมชนต้องตื่นตัวมาดูแลบ้านตัวเอง และผู้นำชุมชนต้องกระตุ้นให้ชาวบ้านเขาอย่านิ่งดูดาย ให้มาช่วยกัน มีการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ 1. ก่อนเข้าฤดูฝนเราต้องเตรียมอะไรไว้บ้าง เรามีสระน้ำ คู คลอง ในพื้นที่ชุมชน ก็ขุดลอกเอาไว้เลย และ 2. ให้ช่วยกันปลูกป่าเติมเอาไว้ในชุมชน และมาช่วยกันคิดว่าตรงไหนที่เป็นแหล่งต้นน้ำจะทำอย่างไร ให้เอาน้ำไปสู่ชุมชนให้ได้ ส่วนไหนเก็บในพื้นที่ชุมชน ตรงไหนในพื้นที่ส่วนตัว ถ้าหากไม่มีความรู้ก็ลองดูหมู่บ้านใกล้ๆ เขาทำอย่างไรก็ได้ หรือมาถามผมก็ได้ยินดีให้ความรู้
อ.ณรงค์ เสริมต่อว่า"...ถ้าหากชุมชนอยากมีน้ำกินน้ำใช้ ต้องจัดการตัวเอง ชุมชนต้องช่วยตัวเอง อย่าหวังพึ่งจากคนอื่นมากมายนัก เพราะภาครัฐต้องช่วยคนทั้งประเทศ เรามัวไปหวังพึ่งพิงภาครัฐ ผมว่าเป็นไปไม่ได้ ชีวิตเราจะมานั่งอ้าปากคอยกลืนอาหารอยู่อย่างเดียวไม่ได้แล้ว ...จริงๆ ทรัพยากรไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง เป็นของคนทั้งประเทศ ทั้งโลก ใช้เพื่อพึ่งพากัน คนรุ่นใหม่จะมาอาศัยรุ่นผม ก็ชักไม่ไหวแล้ว เพราะเริ่มหมดอายุลงไป ก็อยากจะฝากไว้ให้คนรุ่นใหม่เพราะจริงๆ ทรัพยากรไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นของคนทั้งประเทศ และของโลก ที่ใช้เพื่อพึ่งพากัน คิดว่าคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเห็นปัญหานำปัญหาไปช่วยกันแก้ไขต่อไป..."
น.ส.สุภาณี ลิ้มโรจน์นุกุล หรือ เนตร เผยว่าจากการได้เข้าโครงการฯ นี้ทำให้ได้มีโอกาสได้ลงเรียนรู้ในพื้นที่จริงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ชุมชนบ้านธารมะยม จ.นครสวรรค์ กับมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ทำให้เข้าใจสถานการณ์ภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น "ดูข่าวปีนี้ รู้สึกว่าสถานการณ์หนักขึ้นทุกปี แต่ก็เห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เขายังช่วยเหลือและยังให้ความสนใจอยู่ และหนูก็รู้สึกว่าคนรุ่นใหม่เขาก็เริ่มมองเห็นเรื่องพวกนี้มากขึ้นแล้ว แต่ขึ้นอยู่ที่ว่าเราเห็นหรือตระหนักในสิ่งพวกนี้ตลอดเวลาหรือเปล่า บางทีสถานการณ์ก็ยังไม่มากระทบความรู้สึก หรือยังไม่เห็นว่ามาถึงตัวเอง ก็ยังไม่เกิดภาวะที่ว่าเราต้องช่วยกันปิดไฟแล้วนะ หรือแปรงฟันแล้วไม่เปิดน้ำทิ้ง เรามองข้ามเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ถ้าเราทุกคนมองข้ามกันหมด สุดท้ายมันก็กระทบต่อโลกอยู่ดี...แต่การที่ได้มาพักที่บ้านธารมะยม ที่นี่ทำให้เราเห็นคุณค่าของน้ำมากขึ้น เพราะเราอยู่ในเมือง เรามีเงินซัพพอร์ทจะใช้อย่างไรก็ได้มีเงินจ่าย เราไม่ต้องหาเอง ไม่ต้องขุดบ่อ ตักน้ำขึ้นมา คนที่นี่เขาต้องทำแบบนี้ เขาถึงรู้ว่ากว่าจะได้น้ำมายากแค่ไหน ป่าที่ปลูกกว่าจะโตมา ใช้เวลาไม่ใช่น้อยๆ มันต้องหมั่นทำๆ การจะใช้จึงรู้คุณค่า จุดเริ่มต้นที่ทำแต่ละครั้งถ้าหากใช้หมดไปเราก็ต้องเหนื่อยอีกนะ โลกก็ต้องเหนื่อย.....เราจะทำให้ทุกคนเข้าใจสิ่งที่เราเห็นไม่ได้ จนกว่าที่ทุกคนจะรู้สึกจริงๆ จะมองคุณค่าว่าทุกอย่างเป็นเรื่องใกล้ตัวจริงๆ ทุกวันนี้ เราอาจจะมีกิน มีใช้ มันยังไม่หมด แต่ถ้าวันหนึ่งมันหมดใครเป็นคนหา อยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น และลองมองคนไกลตัวออกไป ไม่ใช่สนใจแค่ในพื้นที่เรา แต่ยังมีคนในอีกหลายพื้นที่ ที่ลำบากกว่าเราเยอะนะ เห็นคุณค่าในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความสัมพันธ์กัน นอกจากตัวเราเอง.."
นางสาวกชรัตน์ วิชิตนาค หรือแนท ร่วมลงพื้นที่ติดตามโครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย จังหวัดน่าน ดำเนินงานโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชุมชนบ้านน้ำช้างและชุมชนบ้านบวกหญ้า ต.ขุนน่าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เป็นชุมชนตัวอย่างในการนำรูปแบบ "ดอยตุงโมเดล" ไปใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนจนได้ผล หลังกลับจากพื้นที่ "แนท" ได้ร่วมสะท้อนว่า ปีนี้ภัยแล้งดูรุนแรงกว่าทุกปี "...หนูเคยตั้งคำถามว่าน้ำมาจากไหน ทำไมบางปีน้ำท่วม บางปีน้ำแล้ง น้ำหายไปไหน หรืออะไรที่ทำให้เกิดภัยแล้ง จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลว่า ถ้ามีป่า ก็จะมีน้ำ ที่น่านเป็นป่าต้นน้ำ ถ้าเราดูแลรักษาป่าให้อุดมสมบูรณ์ได้โดยไม่ได้ไปทำลายมัน เราก็จะมีน้ำสม่ำเสมอ น้ำจะไม่แล้ง หรือ จะไม่ท่วม มีน้ำพอใช้ ถ้าเราดูแลป่าเป็นอย่างดี ก็เป็นข้อมูลที่หนูคิดว่าทุกๆ คนรู้กันอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง เราใช้น้ำ แต่เราไม่ได้ดูแลป่า ทุกคนรู้ว่าน้ำมาจากป่า แต่ว่าเราใช้แต่น้ำ แต่เราไม่ได้หันไปดูแลป่าว่าตอนนี้เป็นอย่างไร คนคิดว่าคนที่มีหน้าที่ดูแลป่า คือหน้าที่ของคนต่างจังหวัด หรือ คนที่อยู่ใกล้ป่า ซึ่งหนูก็เคยคิดแบบนี้ หนูคิดว่าหนูอยู่ในเมือง หนูไม่สามารถทำอะไรได้ หนูไม่ได้อยู่ใกล้ป่า หนูไม่สามารถเข้าไปดูแลป่าได้ หลังลงพื้นที่ทำให้ความคิดหนูเปลี่ยนว่า ตอนนี้คิดว่าหนูจะทำอะไรได้บ้างก็จะช่วยทำ ไม่ใช่เป็นปัญหาของคนแค่กลุ่มเดียว หรือคนๆ เดียวที่ต้องรับผิดชอบ แต่เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแล...เห็นคนในพื้นที่เหนื่อยมาก เพราะพวกเขาต้องหาเลี้ยงครอบครัวและยังมีอีกหน้าที่หนึ่งคือทำให้หน้าที่ดูแลไม่ให้มีการเผาป่า เขาไม่ได้เป็นคนเผา แต่เขาต้องเป็นคนไปดับ.. ทั้งที่น้ำนี้เป็นน้ำที่ทุกคนใช้กันทั้งประเทศ แต่หน้าที่กลับไปอยู่แค่ที่คนกลุ่มเดียว
หนูคิดว่าบางที่เราอยู่ในเมือง เราอาจจะมีโครงการอะไรที่ช่วยเหลือได้ ตัวเงินก็อาจจะไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้เขาได้ ตอนนี้ได้รับความรู้ จิตสำนึกมา ทำให้ฉุกคิดตลอดว่าถ้าทำอะไรต้องนึกถึงพื้นที่ที่เราไปเจอมา เราเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันดูแลรักษา ..และหนูได้คำตอบว่าการใช้ทรัพยากร การจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้เลย ถ้าเราจัดการไม่ได้ จะมีปัญหาตามมา เราหมายถึงทุกคนที่ต้องกินต้องใช้ เราต้องฉุกคิดนิดหนึ่งว่า น้ำที่เราใช้ไป ได้ประโยชน์มากพอไหม ไม้ที่เราไปตัดใช้มันอย่างคุ้มค่าไหม..ถ้าหนูเป็นตัวแทนชาวขุนน่านได้ หนูอยากจะบอกคนเมืองให้เขาตระหนักคิด คือทุกอย่างที่ใช้มันมีที่มา และระหว่างทางเราต้องคิดว่าเราจะดูแลรักษามันอย่างใรให้อยู่นานๆ และในฐานะคนเมืองก็อยากจะขอบคุณ ชาวขุนน่านที่เขามีส่วนช่วยในการดูแลรักษาให้พวกเราค่ะ.."
มุมมองและการสะท้อนความคิดเห็นตัวแทนคนรุ่นใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์มาร่วมแนะแนวทางการจัดการน้ำอย่างถูกวิธีนี้ อาจจะกระตุกให้ฉุกคิดกันได้บ้าง "ภัยแล้ง" วันนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวกันอีกต่อไป ทรัพยากรธรรมชาติที่ทุกคนบอกว่าไม่ใช่ของใครคนใด คนหนึ่ง คงไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรูเท่านั้น แต่ต้องถูกนำมาปฏิบัติกันจริงจังเสียที ก่อนที่ในอนาคตคนไทยจะไม่เหลือน้ำให้ใช้กันสักหยด.