ค้นพบปลาในถ้ำลึก ที่มีกระดูกส่วนเชิงกราน คล้ายสัตว์บกชนิดเดียวในโลก

ข่าวทั่วไป Thursday April 7, 2016 13:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นักวิจัยไทยได้ค้นพบปลาที่เดินได้คล้ายสัตว์ 4 ขา พันธุ์เดียวในโลก ในถ้ำที่ จ.แม่ฮ่องสอน โดย ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ร่วมกับนักวิจัยจาก the New Jersey Institute of Technology ประเทศอเมริกา ค้นพบ ปลาที่เดินได้เหมือนสัตว์บก และได้ตีพิมพ์การค้นพบ Tetrapod-like pelvic girdle in a walking cavefish กระดูกโอบเชิงกราน ที่ดูคล้ายกับของสัตว์บกสี่ขา ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า ตนและทีมงาน ได้ทำการวิจัยปลาที่มีชื่อว่า ปลาผีเสื้อถ้ำ หรือ Waterfall climbing cavefish ชื่อทางวิทยาศาตร์คือ Cryptotora thamicola ที่มีขนาดโตเต็มที่ ประมาณ 5-6 เซนติเมตร ลักษณะเฉพาะคือ ไม่มีตา ไม่มีสี ลำตัวผอมลีบ และมีครีบที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับตัว โดยพบอาศัยอยู่ในถ้ำบางแห่งในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนเท่านั้น จัดเป็นสัตว์ถิ่นเดียวของไทย และเป็นสัตว์คุ้มครองตามกฎหมาย ประชากรในถิ่นอาศัยที่สามารถเข้าถึงได้มีน้อยมาก แต่อาจอาศัยอยู่ในถ้ำส่วนอื่นที่ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกซึ่งปลาผีเสื้อถ้ำนั้น มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือ สามารถเดินคล้ายสัตว์ 4 ขาในน้ำ สวนทางน้ำได้ จึงได้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องปลาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากเป็นสัตว์อนุรักษ์ ไม่สามารถจับมาศึกษาเป็นๆ ได้ จึงใช้วิธีเอาตัวอย่างดองในพิพิธภัณฑ์มาแสกนด้วยเครื่อง CT-scan ทำเป็นภาพ 3 มิติของกายวิภาค และจากการที่ได้ศึกษาโดยได้นำเอาภาพวิดีโอการ เดินของปลาผีเสื้อถ้ำมาศึกษา พบว่ามีลักษณะคล้ายกับสัตว์สี่ขากำลังคืบคลาน และพบว่า กระดูกเชิงกรานของปลาผีเสื้อถ้ำนั้นไม่ได้เป็นแค่ชิ้นเล็ก ๆ คู่หนึ่ง ลอยอยู่ในเนื้อปลาเหมือนกับปลาทั่วไปซึ่งใช้สำหรับการพยุงครีบคู่หลังเท่านั้น แต่กระดูกเชิงกรานของปลาผีเสื้อกลับมีความซับซ้อนสูง เชื่อมต่อกับกระดูกสันหลังผ่านกระดูกซี่โครงซึ่งยื่นยาวออกมา เหมือนกับของสัตว์บกสี่ขา และทำให้สามารถยกตัวขึ้นจากพื้นได้ด้วยระยางค์คู่หลัง คล้ายกับกระดูกรยางค์ของซาลามานเดอร์ ซึ่งเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ มากกว่าของปลา ถือเป็นปลาที่มีกระดูกส่วนเชิงกรานคล้ายสัตว์เลื้อยคลาน พันธุ์เดียวในโลกและถือเป็นรอยต่อประวัติศาสตร์โลก ด้านชีววิทยา และวิวัฒนาการ รวมทั้งสามารถต่อยอดการศึกษาได้อีกมาก กระทั่งได้รับการยืนยันและตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ผศ.ดร.อภินันท์ กล่าว ผศ.ดร.อภินันท์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในทางชีววิทยา เรารู้ว่าบรรพบุรุษของเราวิวัฒนาการจากปลาในทะเลขึ้นมาเป็นสัตว์บก ตั้งแต่ประมาณ 375 ล้านปีก่อน แต่ก็ยังเป็นปริศนาว่ากระบวนการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซากฟอสซิลที่ขุดค้นพบก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่การค้นพบนี้ ทำให้ทราบว่า ปลาผีเสื้อถ้ำ หรือ Cryptotora thamicola ซึ่งพบในถ้ำภาคเหนือของไทย และสามารถปีนก้อนหิน ผ่านสายน้ำตกในถ้ำได้นั้น มีลักษณะกระดูกที่บรรพบุรุษของมนุษย์ที่เป็นสัตว์น้ำ น่าจะมีสำหรับการเดิน ซึ่งรวมถึงการมีกระดูกเชิงกรานด้วยซึ่งการค้นพบนี้เป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างมาก ครีบปลาทั่วไปนั้นใช้ในการดันน้ำ ไม่ใช่ไว้ดันตัวเองจากพื้น บรรพบุรุษของมนุษย์ที่เคยเป็นปลามาก่อน จึงต้องมีวิวัฒนาการหลายอย่างก่อนจะขึ้นมาบนบกได้ เช่น มีกระดูกเชิงกรานที่เชื่อมต่อระยางค์ขาหลัง เข้ากับกระดูกสันหลังของมัน จึงจะสามารถเดินแบบสัตว์บก 4 ขาได้ ส่วนอย่างปลาตีนนั้น ใช้แค่ครีบคู่หน้าดันพื้นเท่านั้นอย่างไรก็ตาม ปลาผีเสื้อถ้ำ ถือเป็นสัตว์อนุรักษ์ หายากจะใกล้สูญพันธุ์ ทั้งยังค่อนข้างบอบบาง ทั้งยังเป็นสัตว์ที่มาต่อจิ๊กซอว์ความเชื่อมโยงด้านวิวัฒนาการ สัตว์บกสู่สัตว์น้ำ จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้อง มีการศึกษาต่อยอดด้านชีววิทยา และหามาตรการดูแลอนุรักษ์ปลาผีเสื้อถ้ำอย่างเข้มงวดต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ