กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--มรภ.สงขลา
นักศึกษานาฏศิลป์สากล มรภ.สงขลา สุดเจ๋ง ตามติดชีวิตลิงเขาตังกวน ศึกษาท่าทาง พฤติกรรม ประยุกต์สู่การแสดงชุดวานรินทร์ คว้ารางวัลวิจัยสร้างสรรค์ดีเด่น งานประชุมวิชาการระดับชาติ
ดร.จรรณสมร ผลบุญ ประธานโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา(มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า การแสดงชุดวานรินทร์ ผลงานสร้างสรรค์ของนักศึกษาชั้นปี 4 เอกนาฏศิลป์สากล ที่มี น.ส.ญาณิกา สุวรรณวิจิตร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลวิจัยสร้างสรรค์ดีเด่น ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ปี 2559 ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรังโดยทีมนักศึกษาได้ประยุกต์ลีลาท่าทาง พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของลิงแสม รวมไปถึงอุปนิสัยต่างๆ มาถ่ายทอดในรูปแบบนาฏศิลป์ร่วมสมัย และได้ออกแบบท่าทางจากธรรมชาติของลิงแสม เช่น การนั่ง การยืน ห้อยโหน เป็นต้น มาผนวกเข้ากับหลักการเคลื่อนไหวตามหลักของนาฏศิลป์สากล
น.ส.ญาณิกา สุวรรณวิจิตร อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า การแสดงชุดวานรินทร์นำเสนอในรูปแบบ Pure Dance เน้นถึงความสวยงามเป็นหลักสำคัญ โดยใช้ทำนองดนตรีร่วมสมัยที่ไพเราะสนุกสนาน งานวิจัยชิ้นนี้มีแรงบันดาลใจจากการเห็นถึงปัญหาและทัศนคติในแง่ลบของสังคมที่มีต่อลิงแสมบนเขาตังกวน จ.สงขลา ถูกกล่าวหาว่าเป็นสัตว์ที่รุกราน แย่งชิงอาหารของผู้คน ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ การสังเกต และลงพื้นที่ทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้คณะผู้สร้างสรรค์ผลงานจึงต้องการปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในพื้นที่ที่มีต่อลิงแสมในแง่ลบ โดยคิดค้นชุดการแสดงเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าลิงแสมมีความน่ารักซุกซน เฉลียวฉลาดและคล่องแคล่วว่องไว มีความสำคัญทางชุมชนและเศรษฐกิจ สามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในชุมชนได้ ทั้งยังช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชทางเศรษฐกิจและช่วยสร้างความสมดุลของธรรมชาติในระบบนิเวศน์อีกด้วย คณะผู้สร้างสรรค์จึงเกิดแรงบันดาลใจจากตัวลิงแสมมาสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของนาฏศิลป์ร่วมสมัย และได้ประดิษฐ์เครื่องแต่งกายขึ้นมาเอง โดยนำผ้ากระสอบ ผ้าหนัง วัสดุที่ทำเลียนแบบไม้มาประดับตกแต่ง สื่อถึงความเป็นธรรมชาติ ความคล่องแคล่วว่องไวและโลดโผนของลิงแสม
ด้าน นายนที รุ่มรวย นักศึกษาปี 4 เอกนาฏศิลป์สากล หนึ่งในคณะผู้สร้างสรรค์งานวิจัย กล่าวว่า ทีมสร้างสรรค์ผลงาน ทั้ง 7 คน ประกอบด้วย 1. น.ส.กัญญารักษ์ ไพบูลย์สวัสดิ์ 2. น.ส.ชนนิกานต์ หมวดเพ็ง 3. นายชูเกียรติ สรยิง 4. นายนที รุ่มรวย 5. น.ส.ปริฉัตร พรหมเมศร์ 6. น.ส.ภัทรสุดา แซ่ลี่ 7. น.ส.สุวิมล นุ่นสงโดยใช้เวลาเตรียมงานและลงพื้นที่ร่วมสองเดือน ไปที่เขาตังกวนตั้งแต่ตี 5 ซึ่งเป็นเวลาที่ลิงจ่าฝูงลงมาจากเขา จากนั้นช่วยกันสังเกตพฤติกรรมของลิงตลอดทั้งวัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ ตีความ จนนำมาสู่การสร้างสรรค์ชุดการแสดง ในการฝึกซ้อมมีอุปสรรคมากมาย เพราะนักแสดงแต่ละคนมีเวลาว่างไม่ตรงกัน เนื่องจากมีงานแสดงของโปรแกรมวิชาที่ได้รับมอบหมาย ทำให้เวลาซ้อมส่วนใหญ่คือหลังเที่ยงคืนไปแล้วแต่ทุกคนในทีมไม่ให้การซ้อมกระทบต่องานและการเรียนอย่างเด็ดขาด เพราะแต่ละอย่างมีความสำคัญเหมือนกัน
"ภูมิใจกับรางวัลที่ได้มาอย่างมาก รู้สึกหายเหนื่อยและคุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้ตั้งใจทำกัน และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับฟังคำแนะนำจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ทางคณะผู้สร้างสรรค์จะนำคำแนะนำมาปรับใช้ให้การแสดงนั้นมีความสมบูรณ์ยิ่งๆขึ้น และขอขอบคุณคณะกรรมการ คณะอาจารย์ ผู้ปกครอง รุ่นพี่ รุ่นน้อง และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ทำให้การแสดงชุดนี้ผ่านไปด้วยดี" นายนที กล่าว
น.ส.ชนนิกานต์ หมวดเพ็ง สมาชิกในทีมอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้ทุกคนช่วยกันสืบค้นข้อมูลจากสถานที่ต่างๆ ลงพื้นที ทุ่มเทแรงใจแรงกาย จึงถือได้ว่าเป็นผลงานสำคัญและเป็นความภาคภูมิใจของนักศึกษาที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงชุดนี้ ซึ่งจากประสบการณ์ในการคิดสร้างสรรค์งานที่พวกพี่ๆ ได้คิดและถ่ายทอดออกมา อยากให้น้องๆ ได้เรียนรู้ในส่วนต่างๆ ของงาน ทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มีผลงานที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งถ่ายทอดให้น้องๆ ผลิตผลงานที่มีประสิทธิภาพออกสู่สังคม
น.ส.สุวิมล นุ่นสง กล่าวบ้างว่า ภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์การแสดงชุดวานรินทร์ แม้ผลงานชิ้นนี้จะมีอุปสรรคหลาย แต่อุปสรรคเหล่านี้ก็เป็นแรงผลักดันที่ทำให้งานชุดนี้แข็งแกร่งขึ้น และสามารถก้าวไปได้อีกขั้นหนึ่งของคำว่าสร้างสรรค์ อยากฝากไปถึงน้องๆ ที่ต้องการสร้างสรรค์ผลงานว่า ขอให้สร้างประสบการณ์จากการศึกษาดูงานหรือฝึกฝนมากๆ จะช่วยให้การสร้างสรรค์ของเรามีการพัฒนายิ่งๆ ขึ้นไป