กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ม.มหิดล
ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ โชคชัย เมธีไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในการจัดงานประชุมวิชาการประจำปีศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษกประจำปี ๒๕๕๙ เรื่อง สังคมผู้สูงอายุในยุคดิจิตอล ในวันอังคารที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๙ เวลา ๘.๓๐-๑๖.๓๐น. ณ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล ชั้น ๒ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระ กลลดาเรืองไกร ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ม.มหิดล กล่าวว่า การจัดงานการประชุมวิชาการประจำปีศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เรื่อง สังคมผู้สูงอายุในยุคดิจิตอล มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านการแพทย์ การพยาบาลและสังคมศาสตร์ เปิดวิสัยทัศน์และเรียนรู้ต้นแบบประสบการณ์การดูแลผู้สูงวัยและครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพและ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เผยแพร่แนวคิดทางวิชาการ สร้างสรรค์งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุ และชี้แนวทางส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของประเทศและสังคมไทยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุท่ามกลางยุคเทคโนโลยีดิจิตอล สำหรับรูปแบบการจัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ คือ มีการปาฐกถาเกียรติยศศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร ครั้งที่ ๔ เรื่อง "สังคมผู้สูงอายุในยุคดิจิตอล"โดย นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ, การบรรยาย อภิปรายทางวิชาการ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีประเด็นสำคัญที่หลากหลาย อาทิ Universal Designสำหรับผู้สูงอายุ, การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยแพทย์ทางเลือก,สุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ,สุขใจ...ในวัยข้อเสื่อม, สูงวัยหัวใจแข็งแรง How to Have a Healthy Heart, โรคทางเดินปัสสาวะที่น่ารู้...ในผู้สูงวัย, โรคกระดูกสันหลังเสื่อมในผู้สูงวัย, ระบบสุขภาพผู้สูงอายุในอนาคต, การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ และเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ/ผลงานวิจัย, การแสดงนิทรรศการและการเสนอผลงานทางวิชาการ ซึ่งมีคณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหิดล จากสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน สมาชิกศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก เข้าร่วมจำนวนกว่า ๓๖๐ คน
งานประชุมวิชาการในครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้ความเข้าใจในด้านการดูแลผู้สูงอายุส่งผลให้ประเทศของเราเป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และช่วยสนับสนุนให้มีการสร้างเครือข่ายงานวิจัยให้เกิดความร่วมมือทางการวิจัยแบบบูรณาการเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างเต็มที่ ภายใต้พระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนกที่ว่า "ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ"