กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--กรมประมง
กรมประมง...ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการชดเชยดอกเบี้ยช่วยเหลือเกษตรกร ร้อยละ 3 ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ตามโครงการปรับปรุงโครงสร้างระบบการเลี้ยงเพื่อพลิกฟื้นการผลิตกุ้ง และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ชวนเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่สถาบัน/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งในพื้นที่ ระหว่าง 7 - 20 เมษายนนี้
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 ซึ่งได้เห็นชอบโครงการ "ปรับปรุงโครงสร้างระบบการเลี้ยงเพื่อพลิกฟื้นการผลิตกุ้ง และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยอย่างยั่งยืน" เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่กู้ยืมเงินไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานฟาร์มให้มีรูปแบบ ประกอบด้วย บ่อเลี้ยง บ่อตกตะกอน บ่อบำบัดน้ำทิ้ง และบ่อพักน้ำ ตามอัตราส่วน 4 : 1 : 1 : 4
วงเงิน 90 ล้านบาท ผ่านสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี (สิ้นสุดการชดเชยดอกเบี้ยในวันที่ 30 มิถุนายน 2562) ให้แก่เกษตรกรจำนวน
1,000 ราย ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
1. เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งทะเลในปัจจุบัน และได้ขึ้นทะเบียนผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (กุ้งทะเล) กับกรมประมง
2. เป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากกรมประมง (GAP/ GAP มกษ.7401-2552/ GAP มกษ.7401-2557/ CoC) หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินการต่ออายุ ใบรับรองมาตรฐานที่ออกให้โดยกรมประมง หรือ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย)
3. เป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่ฟาร์มขั้นต่ำประมาณ 10 ไร่และมีความพร้อมในการปรับปรุงโครงสร้างฟาร์ม ตามที่กรอบระยะเวลาของโครงการฯ กำหนด
4. กรณีเกษตรกรมีฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ตั้งอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด ให้เกษตรกรคัดเลือกฟาร์มที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องแสดงหลักฐานการสมัครเพื่อพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ดังนี้ 1. ใบสมัครการเข้าร่วมโครงการฯ สามารถดาวน์โหลดได้จาก www.shrimpaqua.com
2. บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา
3. บัตรทะเบียนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทบ.1) ที่ออกโดยกรมประมง พร้อมสำเนา
4. ใบรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ยังไม่หมดอายุ (GAP/ GAP มกษ.7401-2557/ CoC) หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานที่ออกให้โดยกรมประมง หรือ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) พร้อมสำเนา
5. แผนผังโครงสร้างฟาร์มในปัจจุบัน และแผนการปรับปรุงโครงสร้างฟาร์มตามที่โครงการฯ กำหนด
เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลสามารถยื่นความประสงค์สมัครเข้าร่วมโครงการฯได้ที่สถาบัน/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งในพื้นที่ตามที่ตั้งฟาร์ม **(ในกรณีฟาร์มที่ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการให้ยื่นใบสมัครได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสมุทรสาคร) ตั้งแต่วันที่ 7 – 20 เมษายน 2559
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นายธีรพงศ์ บรรเลง นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สถาบันวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล กรมประมง โทร.0 2562 0552 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ©