กรุงเทพฯ--7 เม.ย.--จริงใจครีเอชั่น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นำโดย นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ , มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โดย ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) (ส.ส.ท) โดย รศ.ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายก สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมกันจัด งานแถลงข่าว ผลสำเร็จของ "โครงการวัดสร้างสุข คนสร้างชาติ พุทธศาสน์สร้างใจ" โดยทุกฝ่ายได้ร่วมมือกัน ในการดำเนินการตรวจประเมินสภาพความเป็นสถานที "สัปปายะ (การบำรุงรักษาส่งเสริมวัดให้เป็นบ่อเกิดแห่งความสุข)" ภายในวัดที่เข้าร่วม "โครงการวัดสร้างสุข คนสร้างชาติ พุทธศาสน์สร้างใจ" โดยมีวิสัยทัศน์โครงการที่จะสร้างสังคมแห่งความสุข โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอด เพื่อส่งเสริมความมีวินัย ผ่านวิถีของ 5ส
นายพนม ศรศิลป์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึง "โครงการวัดสร้างสุข คนสร้างชาติ พุทธศาสน์สร้างใจ" ว่า วิถีชีวิตดั้งเดิมของเราชาวไทย มีวัดเป็นศูนย์กลางเป็นจุดรวมจิตใจ เราเข้าวัดเพื่อขัดเกลาจิตใจเป็นสิ่งที่หล่อมหลอม เหนี่ยวรั้งให้ชุมชนมีวัฒนธรรมที่ดี จึงเป็นศูนย์กลางในการสื่อสาร จากนั้นเราก็ถือโอกาสทำกิจกรรมไปด้วย เป็นศูนย์เรียนรู้ ศิลปะ วิชาชีพ การแพทย์ การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น มีกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ จัดงานเทศกาลรื่นเริง โดยอยู่ในกรอบของวัด เมื่อเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ทำให้ประเทศไทยก้าวจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอย่างมากมาย สังคมครอบครัว ลูกหลานต้องจากบ้านเกิดมาทำงานยังต่างถิ่น ต่างจังหวัด ทำให้สังคมครอบครัวเกิดปัญหา ต้องห่างเหินกัน ขาดความอบอุ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทย
ด้าน รศ.ดร. สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นายก สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงคิดโครงการ "วัดสร้างสุข" ขึ้น โดยแก้ปัญหาอย่างแยบยล แก้ที่ต้นเหตุ คือ "โรงงาน" ให้โรงงานที่มีความเข้มแข็งในเชิงโครงสร้าง ทรัพยากร คน เวลา ความรู้ด้าน 5ส เป็นพี่เลี้ยง ดึงคนในโรงงาน ชุมชน เข้าวัดทำ 5ส เป็น โครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่ต่อเนื่องได้ผล สำคัญคือ ไม่ได้ใช้กำลังทรัพย์มาก แต่ใช้ "กำลังกาย และ จิตใจที่บริสุทธิ" แน่วแน่ในการเป็นพี่เลี้ยง เพราะ ต้องไปจัดระบบในวัดด้วย 5ส ทำให้วัดเป็นดินแดนแห่ง "สัปปายะ หรือ สบาย" สิ่งสำคัญสุดท้ายที่ต้องการให้เกิดผล คือ "ชุมชน" หันกลับเข้ามาพัฒนาชุมชน ทำ 5ส ที่วัดเป็นตัวอย่าง เปลี่ยนนิสัยให้เป็นคนมี "วินัย" คืนวิถีสังคมไทยที่วัดเป็นศูนย์กลางให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง สังคมไทยจะเข้มแข็ง และมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
โครงการวัดสร้างสุขฯ ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 ช่วง คือ ช่วงแรก คือ การศึกษาวิจัย การนำ 5ส ไปปรับใช้ในวัดนำร่อง เพื่อถอดบทเรียน จนกลายเป็นวัดต้นแบบ ในช่วงนี้ คือ ช่วงที่ 2 ได้ดำเนินการขยายผลไปประมาณ 100 วัดทั่วประเทศ ซึ่งความมุ่งหวังของ สมาคม ตั้งเป้าต่อไป คือ การหากลไกที่เหมาะสม เพื่อขยายไปยังวัดทั่วประเทศ แต่ก็เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย และต้องอาศัย จิตใจบริสุทธิ์ แรงกล้า ของเครือข่าย ทั้ง วัด โรงงาน ชุมชน ร่วมมือ สร้างการเปลี่ยนแปลง คืนความสุข สู่ประชาชนอย่างแท้จริง มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแห่งความร่วมกัน