กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กทม.
วันนี้ (24 พ.ค.43) เวลา 10.00 น. ที่ห้องคอนฟอร์เร้นซ์เซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด็นท์ นพ.ไพจิตร ปวะบุตร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้านอนามัย เป็นประธานเปิดการสัมมนาจัดทำแผนกลยุทธ์ควบคุมสุนัขจรจัดของกรุงเทพมหานคร โดยมี นพ.วันชาติ ศุภจัตุรัส รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายโสภณ สุภาพงษ์ สมาชิกวุฒิสภา ผศ.ปานเทพ รัตนากร คณบดีคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกว่า 70 คน ร่วมสัมมนา
ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดของกรุงเทพมหานคร ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน ต้องเกี่ยวข้องเชื่อมโยงมากมาย โดยเฉพาะเรื่องมนุษยธรรม เมตตาธรรม ด้านสาธารณสุข และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ในปัจจุบัน กทม. ได้ศึกษารายงานการสำรวจประชากรสุนัขในเขตกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับ กองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. พบว่า ทั้งสุนัขมีเจ้าของและสนัขจรจัดในกทม.มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยขณะนี้จำนวนสุนัขจรจัดที่เพิ่มขึ้นเป็นเกือบหนึ่งแสนตัวได้ทำให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขต่อมนุษย์และปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่ง กทม.เองได้พยายามแก้ปัญหาสุนัขจรจัดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่จำนวนสุนัขจรจัดก็ยังมีปริมาณสูง ไม่ลดลงเท่าที่ควร เนื่องจากเจ้าของสุนัขส่วนหนึ่งยังขาดวินัยในการเลี้ยงสุนัขอย่างรักและรับผิดชอบ เช่น ปล่อยให้สุนัขเพ่นพ่านออกนอกบ้านโดยไม่มีการควบคุม, ปล่อยปละละเลยไม่ดูแล ไม่ฉีดวัคซีน, ไม่ยอมคุมกำเนิดสุนัขที่เลี้ยง, นำลูกสุนัขที่ไม่ต้องการไปปล่อยทิ้งตาม วัดวาอาราม ฯลฯ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ปัญหาจากสุนัขไม่มีเจ้าของที่ถูกทอดทิ้งให้มีชีวิตตามยถากรรม ตามที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น วัดวาอารามและตามท้องถนนสายต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งสุนัขไม่มีเจ้าของเหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ สุนัขกึ่งจรจัดและสุนัขจรจัด สำหรับสุนัขกึ่งจรจัด เป็นสุนัขไม่มีเจ้าของที่อาศัยอยู่นอกบ้านโดยมีผู้ให้อาหาร ส่วนใหญ่มีนิสัยดี เชื่อง ไม่ดุร้าย และ ไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่ สุนัขกึ่งจรจัดนี้ผู้ให้อาหารหรือคนในพื้นที่สามารถจับมาให้เจ้าหน้าที่ฉีดยาหรือวัคซีนได้โดยง่าย ส่วนสุนัขจรจัด เป็นสุนัขไม่มีเจ้าของที่อาศัยอยู่นอกบ้าน ส่วนใหญ่จะหาเศษอาหารกินเองตามกองขยะทั่วไป และ มักจะก่อให้เกิดปัญหาเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพบว่าสุนัขจรจัดนี้มักไม่สามารถจับตัวมาให้เจ้าหน้าที่ฉีดยาได้
จากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้ปัญหาสุนัขจรจัดกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยที่นับวันจะทวีความ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาสุนัขจรจัดให้ลดลงโดยเร็วก่อนประชากรสุนัขจะล้นกรุง คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดปัจจุบันจึงเห็นสมควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการควบคุมสุนัขจรจัดในกรุงเทพมหานครใหม่ โดยใช้แนวทางดำเนินการควบคุมประชากรสุนัขขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และองค์การพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Society for the Protection of Animals : WSPA) มาเป็นกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน โดยยึดหลักวิชาการด้านการสาธารณสุขและมนุษยธรรมเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติ ด้วยการใช้มาตรการพิเศษ “จัดระเบียบการเลี้ยงสุนัขของคนกรุงเทพฯ” ใหม่ เน้นการสร้างวินัยการเลี้ยงสุนัขอย่างรักและรับผิดชอบ โดยมีมาตรการเฉพาะกับสุนัข 3 กลุ่มที่ได้กล่าวมาแล้วคือ
1.มาตรการสำหรับสุนัขมีเจ้าของ
2.มาตรการสำหรับสุนัขกึ่ง จรจัด
3.มาตรการสำหรับสุนัขจรจัด มาตรการสำหรับสุนัขมีเจ้าของ กรุงเทพมหานครจะออกมาตรการพิเศษ “ห้ามปล่อยสุนัข ในที่สาธารณะ” โดยจะขอให้เจ้าของสุนัขทุกรายเลี้ยงสุนัขอยู่ในบ้านหรือกักขังไม่ให้ออกมาในที่สาธารณะ ถ้าจำเป็นต้องพาสุนัข ออกนอกบ้านก็ขอให้ใช้สายจูงทุกครั้ง หากฝ่าฝืนกทม.จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535
มาตรการต่อมา กรุงเทพมหานคร “จัดระเบียบการเลี้ยงสุนัข” ด้วยการทำสำมะโนประชากรสุนัขทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการขึ้นทะเบียนสุนัขและทำเครื่องหมายระบุตัวสุนัขเพื่อแสดงว่าเป็นสุนัขมีเจ้าของด้วยการสวมปลอกคอ รวมทั้งสนับสนุนให้เจ้าของสุนัขฝังไมโครชิปให้สุนัขของตนเพื่อเป็นเครื่องมือในการตามหาในกรณีที่สุนัขที่มีเจ้าของเกิดพลัดหลงออกมาในที่สาธารณะ โดยเจ้าหน้าที่ของ กทม. จะทำการตรวจหาไมโครซิปด้วยเครื่องสแกนเนอร์ในสุนัขทุกตัวที่จับได้ ซึ่งหากพบว่าสุนัขตัวใดมีไมโครชิป อยู่ ก็จะทำการสืบค้นประวัติเจ้าของด้วยคอมพิวเตอร์ และเมื่อติดต่อเจ้าของได้ กรุงเทพมหานครก็จะนำสุนัขนั้นส่งกลับคืนเจ้าของ ถึงที่บ้าน นอกจากนั้น กรุงเทพมหานครจะรณรงค์ให้เจ้าของสุนัข “คุมกำเนิดสุนัขด้วยการทำหมัน” ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดให้มีการรณรงค์ทำหมันสุนัขทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการทำหมันสุนัข โดยชี้ให้เห็นว่า การทำหมันสุนัขเป็นวิธีควบคุมประชากรสุนัขอย่างมีมนุษยธรรมที่สุด และถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าของสุนัขทุกคนพึงกระทำ มาตรการสำหรับสุนัขกึ่งจรจัด สำหรับสุนัขกึ่งจรจัดซึ่งมีผู้ให้อาหารเป็นประจำนั้น กรุงเทพมหานครจะใช้จัดระเบียบโดยใช้มาตรการ “ทำหมันปล่อยกลับภูมิลำเนาเดิม” โดยกรุงเทพมหานครจะจัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ไปทำหมันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขกึ่งจรจัดทุกตัวด้วยและจะทำเครื่องหมายประจำตัวสุนัขกึ่งจรจัดทุกตัวด้วยการขลิบใบหู, สักเบอร์หูและใส่ปลอกคอพิเศษให้ ซึ่งเมื่อปล่อยกลับภูมิลำเนาเดิมแล้ว กทม.จะไม่จับสุนัขกึ่งจรจัดที่ได้จัดระเบียบนี้อีก มาตรการสำหรับสุนัขจรจัด สุนัขจรจัดนั้นจะถูกรวบรวมเข้าสู่ “ศูนย์ควบคุมประชากรสุนัข ประเวศ” ซึ่งเมื่อกักขังครบ 5 วันแล้วยังไม่มีเจ้าของมารับตัวคืน กรุงเทพมหานครจะทำการแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก : กลุ่มที่มีเครื่องหมายประจำตัว เช่น ปลอกคอ กลุ่มสอง : กลุ่มที่มีนิสัยดี สุขภาพแข็งแรง เหมาะแก่การนำไปเลี้ยง กลุ่มที่สาม : กลุ่มที่มีนิสัยดี แต่สุขภาพป่วยเล็กน้อย กลุ่มสี่ : กลุ่มที่มีนิสัยดุร้าย หรือ สุขภาพทรุดโทรมป่วยเป็นโรคร้ายแรง กลุ่มห้า : กลุ่มที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า สุนัขกลุ่มแรกและกลุ่มสองจะคัดแยกไว้ใน “สวนสัตว์เลี้ยง” เพื่อรอให้ประชาชนมารับไปเลี้ยง เมื่อมีประชาชนมารับไปอุปการะ กรุงเทพมหานครจะดำเนินการทำหมัน ฉีดวัคซีน ขึ้นทะเบียนและ ฝังไมโครชีปให้สุนัขตัวนั้นก่อนส่งมอบให้เจ้าของใหม่ และสุนัขส่วนใหญ่จะย้ายไปเข้า “ศูนย์ส่งเสริมการอุปการะสุนัข” ที่ฝ่ายควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า กทม.2 ดินแดง เพื่อให้ประชาชนมารับไปเลี้ยงอุปการะเป็นสุนัขประจำบ้านตามโครงการ “หาบ้านใหม่ให้หมาเทศฯ” สุนัขกลุ่มที่สามและสี่จะนำเข้ารักษาตัวใน “กรงพักสัตว์ป่วย” โดยทีมงานสัตวแพทย์ของ “คลินิคสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร ประจำศูนย์ศึกษาชีวิตสัตว์ ประเวศ” เมื่อสุนัขมีสุขภาพแข็งแรงดีแล้วก็จะนำส่งเข้าในสวนสัตว์เลี้ยงเพื่อรอการส่งเสริมให้ประชาชน มารับไปเลี้ยงอุปการะอีกครั้งหนึ่ง ส่วนสุนัขส่วนที่ห้านั้น เพื่อประโยชน์ในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและอันตรายที่อาจจะเกิดกับประชาชนได้ กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องจัดการตามหลักวิชาการและมนุษยธรรมต่อไป และมาตรการสุดท้ายซึ่งจัดเป็นมาตรการ ที่สำคัญมาก คือ มาตรการ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาคมเมืองในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด” เพราะปัญหาสุนัขจรจัดนั้นจัดเป็นปัญหาที่สังคมที่ทุกหน่วยงานในแต่ละประชาชนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันของชุมชนในการจัดระเบียบ การเลี้ยงสุนัขของกรุงเทพมหานครในครั้งนี้
สำหรับโครงการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดที่กรุงเทพมหานครได้ทำไปแล้วอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่
1.โครงการรณรงค์คุมกำเนิดสุนัขในเขตธนบุรี โครงการนี้ได้มอบหมายให้ สก. และ สข. ในเขตธนบุรี ดำเนินการร่วมกับกองสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ดำเนินการรณรงค์คุมกำเนิด-ทำหมันสุนัขตลอดจนฉีดวัคซีนให้กับสุนัขตามวัดและชุมชนทุกแห่งพื้นที่ที่ สก.รับผิดชอบ โดยใด้เน้นการสร้างความเข้าใจกับชุมชนว่าการรณรงค์คุมกำเนิด-ทำหมันสุนัขจะช่วยให้ประชาชนสุนัขจรจัดลดลง และเน้นให้ ประชาชนเลี้ยงสุนัขในบ้านขอความร่วมมือชาวชุมชนอย่าปล่อยสุนัขออกมาเพ่นพ่านนอกบ้าน ซึ่งเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้วพบว่า สุนัขจรจัดลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นยังพบว่า ตามตรอกซอกซอยต่าง ๆ มีความสะอาดปราศจากมูลสุนัขมากขึ้น
2.โครงการ หาบ้านใหม่ให้หมาเทศฯ สืบเนื่องจากการเดินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงรับอุปการะสุนัขไม่มีเจ้าของมาเลี้ยงเป็นสุนัขเลี้ยงส่วนพระองค์ และพระองค์ได้ทรงเรียกขานสุนัขดังกล่าวว่า “หมาเทศฯ” ซึ่งทรงหมายถึง “สุนัขเทศบาล” นั่นเอง ดังนั้นเพื่อเป็นการสืบสานการแก้ปัญหาตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดนโยบายใหม่ในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะในกลุ่มสุนัขไม่มีเจ้าของที่รวบรวมมาได้ โดยการนำสุนัขดังกล่าวมาคัดแยกและบำรุงสุขภาพพร้อม ฝึกฝนเบื้องต้นในระดับหนึ่ง เพื่อเชิญชวนและส่งเสริมให้ประชาชนมารับอุปการะ “หมาเทศฯ” ที่ผ่านการทดสอบสุนัขนิสัยดีเบื้องต้นแล้ว
3.โครงการรณรงค์จัดระเบียบการเลี้ยงสุนัขในเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานครได้กำหนดพื้นที่ทดลองดำเนินการจัดระเบียบการเลี้ยงสุนัขของคนกรุงเทพตามแนวมาตรการใหม่ ซึ่งได้แก่ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน โดยสำนักอนามัยโดยกองสัตวแพทย์ สาธารณสุขร่วมกับสำนักงานเขตพระนครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งนี้กำหนดเริ่มโครงการเมื่อวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการประเมินผลโครงการ และหลังจากประเมินผลและปรับปรุงโครงการแล้ว ก็จะขยายผลไปตามพื้นที่ต่าง ๆ โดยเริ่มจากพื้นที่ ๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ ก่อน แล้วกระจายจนครอบคลุมทั่วพื้นที่ในโรงเรียน สถานที่ราชการ เอกชน จนถึงระดับชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร--จบ--