กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ
การดีท็อกซ์ล้างสารพิษร่างกายเป็นเทรนด์ระดับโลกที่ได้รับความสนใจจากคนรักสุขภาพทั้งในและต่างประเทศมาช้านาน เนื่องจากยุคสมัยแห่งความเร่งรีบทำให้คนเราถูกรุมเร้าจากปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพที่หลากหลายมากขึ้น นำมาซึ่งอาการป่วยซึ่งบ่อยครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ การดีท็อกซ์ล้างสารพิษจึงได้กลายเป็น 1 ในวิธีดูแลสุขภาพแบบที่คนยุคนี้จับตามอง
พญ. สิริธีรา ศรีจันทพงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจาก บาลานซ์ บาย ไฮโดรเฮลท์ คลินิกเวชศาสตร์ชะลอวัยแบบองค์รวม ระบุว่า แม้ว่าธรรมชาติร่างกายของคนเรามีกลไกกำจัดของเสียอยู่แล้วผ่านตับ ไต ลำไส้ใหญ่ แต่ด้วยสภาวะการใช้ชีวิตที่เร่งรีบของสังคมปัจจุบันทำให้เรามีร่างกายอ่อนแอลง อีกทั้งมีโอกาสที่จะได้รับสารพิษมากมายทั้งจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวรวมถึงการกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้ระบบกำจัดสารพิษตามธรรมชาติในร่างกายอาจทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อร่างกายมีสารพิษสะสมเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะของเสียที่ตกค้างอยู่ในตับและลำไส้ จะนำไปสู่การอักเสบและการรั่วซึมของผนังเซลล์ทำให้สารพิษเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เกิดอาการผิดปรกติและร่างกายเสียความสมดุล สำหรับการแพทย์เวชศาสตร์ชะลอวัยแบบองค์รวม เรียกอาการเหล่านี้ว่า "ภาวะร่างกายสะสมพิษ"ซึ่งถึงแม้จะเราทานวิตามินอาหารเสริมที่มีประสิทธิภาพและประโยชน์มากเพียงใดก็ไม่สามารถช่วยได้มากนัก เพราะสารพิษที่สะสมทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินที่ทานเข้าไปได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ การล้างพิษหรือที่คนไทยมักเรียกสั้นๆว่า "ดีท็อกซ์" ย่อมาจากคำว่า Detoxification คือ การนำเอาสารพิษออกจากร่างกาย จริงๆ แล้วเป็นวิธีปฏิบัติของแพทย์ทางเลือก สาขาธรรมชาติบำบัด โดยมีรูปแบบหลักๆ ด้วยกัน 6 วิธี ได้แก่ 1.อดอาหาร 2.ควบคุมอาหารบางอย่าง 3.ดื่มน้ำผักผลไม้ 4.รับประทานอาหารเสริม 5.สวนล้างลำไส้ 6.ผสมผสานวิธีข้างต้นเข้าด้วยกัน
"คนเราจะสุขภาพดีหรือไม่ดี ดูได้จากลำไส้ สังเกตได้จากว่า ท้องอืดไหม ถ่ายสะดวกไหม เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของระบบย่อยอาหารทั้งหมด ถ้าลำไส้ดี สุขภาพด็จะดีตามไปด้วย ซึ่งการดีท็อกซ์ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันโรคด้วยการล้างพิษออกจากร่างกาย แต่ทั้งนี้ก็ควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมจากสถาบันที่เชื่อถือได้ เพราะการทำดีท็อกซ์ด้วยตัวเองหากทำไม่ถูกวิธีหรือไม่มีความรู้ที่ถูกต้องอาจมีความเสี่ยงเกิดผลกระทบต่อร่างกายสูง" พญ. สิริธีรา กล่าว
จากการตรวจพบว่าลำไส้เล็กมีความสำคัญมากที่สุดแต่คนส่วนใหญ่กลับละเลยใส่ใจในการดูแล ลำไส้เล็กมีหน้าที่ดูดซึมสารอาหารและวิตามินที่มีประโยชน์เข้าสู่ร่างกายโดยตรง หากรับประทานอาหารที่มีสารปนเปื้อนหรือมีสารพิษตกค้าง ทำให้ลำไส้เกิดการอักเสบ สารพิษซึมผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย อาทิ ภูมิแพ้ สิวที่รักษาไม่หาย ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และไทรอยด์อักเสบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียแบบไม่ทราบสาเหตุ รวมถึงมีผลกระทบต่อระบบเผาผลาญของร่างกายอีกด้วย
วิธีการดูแลลำไส้เล็กให้มีสุขภาพดี ควรรับประทานอาหารที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน ถูกสุขลักษณะ ไม่รับประทานอาหารซ้ำซาก และรับประทานแบคทีเรียชนิดดีที่มีประโยชน์ (โปรไบโอติกส์) ซึ่งอยู่ในโยเกิร์ตและนมเปรี้ยว เพื่อเสริมการช่วยย่อยให้มีประสิทธิภาพให้ดีขึ้น
หลังจากอาหารผ่านลำไส้เล็กมากแล้วจะเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ หากลำไส้ใหญ่ทำงานดีจะส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีตามไปด้วย แต่การขับถ่ายในชีวิตประจำวันไม่สามารถกำจัดของเสียและสารพิษออกมาได้ทั้งหมดยังคงมีตกค้างในลำไส้ส่วนลึก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร และมะเร็งในลำไส้ได้
วิธีการดูแลลำไส้ใหญ่ให้มีสุขภาพดี การสวนล้างลำไส้ (Colon Hydrotherapy) เป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยม ซึ่งจะช่วยล้างของเสียและสารพิษที่สะสมมาเป็นเวลานาน การไม่ล้างลำไส้ก็เปรียบเสมือนการกินข้าว แล้วไม่ล้างจานมื้อต่อไปก็ใช้จานใบเก่ามาใส่ข้าวกินใหม่นั่นเอง และเมื่อลำไส้อยู่ในสภาวะที่สะอาดสมดุล แบคทีเรียที่ดีในลำไส้จะสามารถอยู่อาศัยและเจริญเติบโตเพื่อสร้างวิตามินและภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ ซึ่งสำหรับบุคคลโดยทั่วแนะนำให้การล้างลำไส้เดือนละ1ครั้ง เป็นประจำทุกเดือนเพื่อกำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
นอกจากนี้การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงต่อในแต่ละวันเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ควรดื่มน้ำตามน้ำหนักตัวโดย 20 กก. แรกควรดื่มให้ได้ 1500 CC และอีกแต่ละ 1 กก. ควรดื่มเพิ่มอีก 20 CC เพราะฉะนั้นผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กก. ควรดื่มน้ำสะอาดต่อวันเท่ากับ 2,300 CC หรือ 2.3 ลิตร เพราะหากดื่มน้ำน้อยจะส่งผลทำให้การดูดซึมน้ำในลำไส้ใหญ่มีปัญหาเกิดภาวะอุจจาระแข็งตัว ขับถ่ายไม่สะดวกและเกิดอาการท้องผูกได้
อย่างไรก็ตาม พญ.สิริธีราย้ำว่า ผู้ที่ทำดีท็อกซ์ล้างพิษจำเป็นต้องตรวจเช็คสภาพร่างกายให้แน่ใจก่อนว่าพร้อมต่อการดีท็อกซ์ เพราะแต่ละคนมีสุขภาพร่างกายไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบลำไส้ใหญ่ ผู้ที่เคยผ่าตัดลำไส้มาก่อน ผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงรุนแรง เด็ก สตรีมีครรภ์ คนที่มีร่างกายอ่อนเพลียมาก และผู้ป่วยช่องท้องอักเสบ เป็นต้น