กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ธุรกิจบัณฑิตย์โพล
54.7 % มีความคิดเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวันสงกรานต์ นำใบเสร็จมาลดหย่อนภาษี ไม่มีผล ต่อการเพิ่มการใช้จ่าย แต่ มาตรการประหยัดน้ำ 61.2% คาดว่าจะใช้น้ำลดลง
ธุรกิจบัณฑิตย์โพล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากทุกภูมิภาคที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร เรื่อง " กิจกรรมวันสงกรานต์และมาตรการของรัฐบาล " จำนวน 1,073 คน พบว่า
กิจกรรมที่คาดว่าจะทำในวันสงกรานต์ มีดังนี้ 1.อยู่กับครอบครัว ร้อยละ 19.7 2.ทำบุญตักบาตร ร้อยละ 15.1 3.กลับบ้านต่างจังหวัด ร้อยละ 13.8 และ 4.รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ร้อยละ 11.7
เมื่อถามว่าร้านอาหารที่จะเลือกใช้บริการในวันสงกรานต์ ร้านที่มาอันดับ 1 ได้แก่ ร้านอาหารไทย ร้อยละ 41.9 และตามด้วยร้านอาหารทะเล ร้อยละ 13.0 ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ร้อยละ 12.9 และ ร้านหมูกระทะ ร้อยละ10.7
สำหรับของขวัญของฝากที่จะซื้อกันส่วนมากในช่วงสงกรานต์ คือ อาหาร / ขนม ร้อยละ 44.5 รองลงมา คือ เสื้อผ้า / เครื่องนุ่งห่ม ร้อยละ 30.1 และ ของใช้ ร้อยละ 21.1
สำหรับค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะใช้ในช่วงวันสงกรานต์อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท
จากสถานการณ์ภัยแล้งรัฐบาลจึงมีการรณรงค์ให้ประหยัดน้ำนั้น ประชาชนคาดว่าจะใช้น้ำเล่นสงกรานต์ลดลง ร้อยละ 61.2 จะใช้น้ำเล่นสงกรานต์ตามปกติ ร้อยละ 35.2 และร้อยละ 3.6 จะใช้น้ำในการเล่นสงกรานต์มากขึ้น
เมื่อถามว่า คาดว่าจะใช้น้ำลดลงหรือไม่หากมีการเก็บค่าน้ำประปาเพิ่มจากส่วนที่ใช้เกินในเดือนเมษายน ร้อยละ 61.2 ตอบว่าใช้น้ำลดลง ร้อยละ 36.4 ตอบว่าใช้ตามปกติ และร้อยละ 2.3 ตอบว่าจะใช้น้ำมากกว่าเดิม
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการของรัฐบาลในเรื่อง " รับประทานอาหารช่วงสงกรานต์ (9 – 17 เม.ย.) ใช้ใบเสร็จลดหย่อนภาษีปี 2559 ได้สูงสุด 15,000 บาท" นั้น ประชาชน ร้อยละ 45.3 เห็นว่ามีผลให้ใช้จ่ายมากขึ้น และร้อยละ 54.7 เห็นว่าไม่มีผล หรือ ใช้จ่ายเท่าเดิม โดยให้เหตุผล ดังนี้ 1. ร้อยละ 17.58 ใช้จ่ายตามงบประมาณที่มี 2. ร้อยละ 15.38 ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด หรือ ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น 3.ร้อยละ 14.29 ไม่ได้เสียภาษีเนื่องจากรายได้ไม่ถึง 4.ร้อยละ 13.19 คาดว่าจะทำอาหารทานที่บ้าน และ อื่นๆ เช่น เป็นการสิ้นเปลือง ลดหย่อนภาษีได้น้อย ซื้อสินค้าที่ตลาดไม่มีใบเสร็จ ขั้นตอนยุ่งยากในการขอใบกำกับภาษี