ตลาดหลักทรัพย์สรุปผลการดำเนินงาน ประจำปี 2543

ข่าวทั่วไป Thursday February 1, 2001 08:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--ตลท.
นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ปี 2543 ว่า ในรอบปีที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ได้มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดหุ้นไทย โดยการกำหนดกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก ทั้งด้านการเพิ่มประเภทและจำนวนสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ การขยายฐานผู้ลงทุน รวมทั้ง การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน ทั้งผู้ออกหลักทรัพย์ ผู้ประกอบการธุรกิจหลักทรัพย์ และผู้ลงทุน โดยในปี 2543 ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดมาตรการฟื้นฟูตลาดทุนไทย 23 มาตรการหลัก เพื่อมุ่งขยายฐานสินค้าและผู้ลงทุนในตลาดทุน ปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจหลักทรัพย์และตลาดทุน รวมทั้ง ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในตลาดทุนอย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดทุนไทยและพัฒนาตลาดทุนให้เป็นกลไกสำคัญที่จะสนับสนุนให้การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2543 ปิดที่ ระดับ 269.19 จุด ลดลงจากจุดปิดเมื่อสิ้นปี 2542 จำนวน 212.73 จุด หรือลดลงร้อยละ 44.14 ปริมาณการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 60,502.55 ล้านหุ้น มีมูลค่าการซื้อขายรวม 923,696.85 ล้านบาท เฉลี่ย 3,739.66 ล้านบาทต่อวันทำการ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ณ สิ้นปี 2543 มีจำนวน 1,279,223.84 ล้านบาท ลดลงจากปี 2542 ร้อยละ 41.7 จำนวนบริษัทจดทะเบียน ณ สิ้นปี 2543 มีทั้งสิ้น 381 บริษัท และหลักทรัพย์จดทะเบียน 438 หลักทรัพย์ โดยมีบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ในปี 2543 รวม 2 บริษัท ทั้งนี้ จำนวนหลักทรัพย์ในปี 2543 มีจำนวนเพิ่มขึ้นรวม 20 หลักทรัพย์ ประกอบด้วยหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ 2 หลักทรัพย์ หุ้นบุริมสิทธิ 2 หลักทรัพย์ ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ 12 หลักทรัพย์ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ออกโดยภาครัฐ 2 หลักทรัพย์ และหน่วยลงทุน 2 หลักทรัพย์ รวมมูลค่าหลักทรัพย์ที่เข้าจดทะเบียนใหม่ตามราคาเสนอขาย ในปี 2543 จำนวน 7,840.00 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญตามมาตรการพัฒนาและฟื้นฟูตลาดทุน มีดังนี้
1. มาตรการสำคัญด้านการเพิ่มและพัฒนาสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่
1.1 การกำหนดกลยุทธ์การตลาดเชิงรุกเพื่อให้มีบริษัทกลุ่มเป้าหมายตาม Product Mix เข้าจดทะเบียนในปี 2543 ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดกลยุทธ์การตลาดเชิงรุก ด้านการหาสินค้าเข้าจดทะเบียน โดยการติดต่อโดยตรงกับบริษัทที่เป็นกลุ่มเป้าหมายทั้งในภาคอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 300 บริษัท เพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์ของการเข้าจดทะเบียน ขั้นตอนการเตรียมตัวที่สำคัญ รวมทั้งประสานงานและอำนวยความสะดวกกับบริษัท และที่ปรึกษาทางการเงิน ในการเตรียมตัวเพื่อเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต
ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ได้เข้าพบลูกค้าเป้าหมาย เพื่อชักชวนให้เข้าจดทะเบียนจำนวน ทั้งสิ้น 110 บริษัท ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ ธุรกิจด้าน IT Portal Site และการสื่อสารอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิคส์ บันเทิงและสันทนาการ ฯลฯ
ทั้งนี้ ในปี 2543 ได้มีบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท บริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) (GENCO) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่สนใจระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์อีกประมาณ 75 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในขั้นตอนการศึกษาข้อมูล และปรับปรุงโครงสร้างและระบบงานต่าง ๆ ในขณะที่บางรายที่มีความพร้อมแล้ว อยู่ระหว่างรอภาวะตลาดที่เอื้ออำนวยเพื่อให้สามารถขายหุ้นในราคาที่ดี
1.2 การปรับปรุงหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพิจารณารับหลักทรัพย์
เพื่อให้บริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสามารถระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้มาก รวดเร็วและคล่องตัวขึ้น รวมทั้ง มีทางเลือกในการเข้าจดทะเบียน และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับโครงสร้างกิจการและการปรับโครงสร้างหนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพิจารณารับหลักทรัพย์ให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2543 เป็นต้นมา โดยปรับปรุงให้เป็น 3 ทางเลือกแก่บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน ได้แก่ เกณฑ์กำไรสุทธิ เกณฑ์รายได้จากการขาย และเกณฑ์มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ยกเลิกการกำหนดมูลค่าที่ตราไว้ ลดระยะเวลาการดำเนินงานภายใต้ผู้บริหารชุดเดียวกันเป็น 1 ปี ยกเลิกเกณฑ์การพิจารณาเรื่องผลขาดทุนสะสม ยกเลิกเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณารับบริษัทเข้าจดทะเบียน พร้อมทั้งปรับเกณฑ์การรับบริษัทที่มีการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจเป็น Holding Company ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนได้รวดเร็วและคล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ ยังยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณารับหลักทรัพย์ เพื่อลดขั้นตอนการพิจารณารับหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนให้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย
ด้านตลาดหลักทรัพย์ใหม่ (Market for Alternative Investment : MAI) ก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ เพื่อรองรับการเข้ามาจดทะเบียนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยเน้นสนับสนุนให้ธุรกิจยุคเศรษฐกิจใหม่ และธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่ได้ พร้อมทั้ง ยังได้ปรับปรุงขั้นตอนการรับหลักทรัพย์ให้ใช้เวลาสั้นลง และบริการให้คำแนะนำแก่บริษัทในการจัดหาที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้สอบบัญชี และการเตรียมความพร้อมต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน ก็ได้พัฒนาระบบการเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าจดทะเบียน โดยเพิ่มบริการสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์สายด่วน (Hot Line) / E-mail ตลอดจน เว็บไซท์ ของตลาดหลักทรัพย์ใหม่ เพื่อให้บริษัทที่สนใจได้รับทราบประโยชน์ของการเข้าสู่ตลาดทุน และข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่
1.3 ลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎเกณฑ์และขั้นตอนการเสนอขายหลักทรัพย์ และการกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูล กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ตลาดหลักทรัพย์ได้ลงนามร่วมกับ ก.ล.ต.เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 เพื่อลดความซ้ำซ้อนเรื่องกฎเกณฑ์และขั้นตอนการเสนอขายหลักทรัพย์ของก.ล.ต. กับการรับหลักทรัพย์เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ไม่เป็นภาระของบริษัทผู้ยื่นคำขอและผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังลดความซ้ำซ้อนในการรายงานข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนมีความคล่องตัวขึ้น ทั้งนี้ ตามข้อตกลงระหว่างก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัท ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน ต้องนำส่งรายงานงบการเงิน รายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปี และรายงานการถือหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียน ไปยังสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพียงหน่วยงานเดียว ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์จะเน้นบทบาทในการเชิญชวนบริษัทเข้าจดทะเบียน เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้ตลาดหลักทรัพย์
1.4 การลดหย่อนค่าธรรมเนียมรายปีของบริษัทจดทะเบียนและยกเลิกค่าธรรมเนียมหุ้นเพิ่มทุน
เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทจดทะเบียนและส่งเสริมให้บริษัทสนใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์จึงได้ขยายระยะเวลาลดหย่อนค่าธรรมเนียมรายปีในการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนต่อเนื่องออกไปอีก 1 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2543 - 30 มิถุนายน 2544 โดยให้ส่วนลดแก่บริษัทจดทะเบียนเป็นการทั่วไปร้อยละ 30 และลดค่าธรรมเนียมขั้นสูงจาก 6 ล้านบาท เหลือ 4 ล้านบาท นอกจากนี้ยังได้ให้ส่วนลดเป็นพิเศษแก่บริษัทจดทะเบียนที่จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วเพิ่มเติมอีกร้อยละ 7-15 ตลอดจนลดค่าธรรมเนียมรายปีของหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 5
ติดต่อเจ้าหน้าที่สื่อมวลชนสัมพันธ์โทร. 229-2035-7 (ยังมีต่อ)
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ