กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 11 เมษายน 2559
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 36 – 42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 38 – 44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 เม.ย. - 15 เม.ย. 59)
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะผันผวนและได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของผลการประชุมระหว่างผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกรวม 12 ประเทศ ในวันที่ 17 เม.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26-27 เม.ย.นี้ ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 15 ติดต่อกัน มาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 76 ปี นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน หลังจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ทยอยกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
-จับตาการประชุมของผู้ผลิตน้ำมันดิบทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกรวม 12 ประเทศ ในวันที่ 17 เม.ย. นี้ ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อตกลงในการคงกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับเดียวกับ ม.ค.59 และรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ ซึ่งล่าสุดผลการประชุมยังมีความไม่แน่นอนสูง หลังจากที่เจ้าชายของซาอุดิอาระเบียกล่าวว่าจะไม่จำกัดปริมาณการผลิต หากอิหร่าน รัสเซีย เวเนซูเอล่า และผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อื่นๆ ไม่ปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าอิหร่านจะตอบรับเข้าร่วมการประชุม แต่ยังคงยืนกรานว่าจะไม่ปรับลดการผลิตจนกว่าจะสามารถกลับมาส่งออกได้ในระดับเดิมก่อนที่จะถูกคว่ำบาตร ในขณะที่ ทางฝั่งของรัสเซีย ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 3% จากเดือนก่อนหน้า แตะระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 30 ปี ที่ 10.91 ล้านบาร์เรล ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงเกี่ยวกับความร่วมมือของรัสเซียในการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ
-ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและส่งผลกดดันราคาน้ำมันดิบน้อยลง หลังรายงานการประชุม Fed ประจำวันที่ 15-16 มี.ค.ระบุว่า Fed ยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ เนื่องจากยังคงกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่ารายงานการประชุมของ Fed เป็นการส่งสัญญาณว่า Fed จะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26-27 เม.ย.นี้ ซึ่งส่งผลให้ตลาดลดการคาดการณ์ลงว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
-ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง สะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 15 ติดต่อกัน มาสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 76 ปี หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงได้ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ประสบปัญหาภาวะทางการเงิน และชะลอกำลังการขุดเจาะและผลิตน้ำมันลง โดยปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ สิ้นสุด ณ วันที่ 1 เม.ย. ลดลง 10 แท่น สู่ระดับ 362 แท่น ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 52 ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2559 จะชะลอตัวลงกว่า 7% สู่ระดับ 8.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2558 สำหรับในปี 2560 คาดว่าปริมาณการผลิตจะลดลงมาที่ 8.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
-ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นครั้งแรกในรอบ 8 สัปดาห์ โดยล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง (สิ้นสุด ณ วันที่ 1 เม.ย.) ปรับตัวลดลงกว่า 4.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 529.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 3.2 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ เป็นผลมาจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ บางส่วนเริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ หลังจากสิ้นสุดฤดูปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น โดยมีการเพิ่มกำลังการกลั่นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงฤดูขับขี่ประจำไตรมาส 2 ตลอดจนเป็นผลมาจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
-ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม จีดีพี (Q4/15) และการลงทุนทางตรงของจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน ดัชนีราคาผู้ผลิต-ผู้บริโภค และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 - 7 เม.ย. 59)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 39.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.27 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 41.94 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 37 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 4.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา ลงมาแตะระดับ 529.90 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล สาเหตุเนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับลดลงและโรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากการเจรจาระหว่างผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกที่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากขึ้น หลังคูเวตกล่าวว่า แม้ว่าอิหร่านจะไม่ปฏิบัติตามกับข้อตกลง ผู้ผลิตก็มีแนวโน้มที่จะตกลงกันได้ในอันที่จะหาข้อสรุปเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบ