กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--M&S Creation
ภาวะตลาดรับสร้างบ้าน 3 เดือนแรก
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association: THBA) รายงานทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในช่วงไตรมาสแรกปี 2559 นี้ (ม.ค.-มี.ค. 2559) ทั้งด้านความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคและประชาชน รวมทั้งปริมาณและมูลค่าก่อสร้างของสมาชิกสมาคมฯ ที่แข่งขันและแชร์ส่วนแบ่งตลาดกันอยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านทั่วประเทศ โดยพบว่า ปริมาณและมูลค่ารับสร้างบ้านมีการขยายตัวหรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 12 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน และเติบโตกว่าไตรมาสแรกปี 58 เฉลี่ยร้อยละ 9 โดยตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ทั้งจังหวัดภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ขยายตัวดีขึ้นทุกภูมิภาค ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลขยายตัวเพียงเล็กน้อย
สถานการณ์ดังกล่าว นับเป็นการส่งสัญญาณการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการที่อยู่อาศัยประเภท "บ้านเดี่ยวสร้างเอง" (ไม่ใช่บ้านจัดสรร) ในต่างจังหวัด หลังจากความต้องการและกำลังซื้อที่อั้นมานานเกือบ 2 ปี เหตุเพราะไม่มั่นใจสภาพเศรษฐกิจและการเมือง แต่มาไตรมาสแรกปี 2559 ผู้บริโภคกลุ่มนี้เริ่มกล้าใช้จ่ายและลงทุนสร้างบ้านหลังใหม่กัน โดยผู้บริโภคหันมาพิจารณาเลือกใช้บริการผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ แทนการว่าจ้างรายย่อยๆ มากขึ้น อาจด้วยเพราะต้องการความสะดวกและบริการที่ได้รับแบบครบวงจร อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาเหตุปัจจัยที่ส่งผลดีต่อการฟื้นตัว สมาคมฯ ยังไม่พบปัจจัยบวกหรือปัจจัยสนับสนุนใดๆ อย่างมีนัยสำคัญ และนั่นอาจกล่าวได้ว่า 1.เป็นเพราะกำลังซื้อผู้บริโภคที่อั้นมานาน และ 2.การปรับตัวของผู้ประกอบการเองที่มุ่งตอบสนองกำลังซื้อและความต้องการได้มากขึ้น
แนวโน้มและทิศทางการแข่งขัน
สำหรับ บรรยากาศการแข่งขันในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำ ต่างรวมตัวกัน เลือกใช้กลยุทธ์อีเว้นต์มาร์เก็ตติ้ง เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นหลัก เริ่มจากอีเวนต์แรกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สมาคมไทยรับสร้างบ้าน จัดงาน "โฮมบิลเดอร์ แอนด์ แมททีเรียล แฟร์ 2016"หรือ มหกรรมสร้างบ้านและวัสดุก่อสร้าง 2559 ณ อิมแพค เมืองทองธานี เน้นสื่อสารและจับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลรวมทั้งในต่างจังหวัด และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ยอดขายของสมาชิกหรือผู้ร่วมออกบูท และจำนวนผู้เข้าชมงานกว่า 50,000 คน ตลอด 5 วันของการจัดงานฯ ขณะที่สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านก็เลือกจัดงาน "โฮมบิลเดอร์ โฟกัส 2016" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อเร็วๆ นี้ โดยเน้นสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ด้วยเพราะสมาชิกส่วนใหญ่เน้นจับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ปัจจุบันทั้ง 2 สมาคมถือได้ว่ามีบทบาทต่อการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการตลาดให้แก่สมาชิกและผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ในระยะ 3 เดือนข้างหน้าหรือไตรมาส 2 ปีนี้ ความต้องการสร้างบ้านหรือกำลังซื้อผู้บริโภค ยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง อันเนื่องมาจาก "โครงการบ้านประชารัฐ" หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านเองในต่างจังหวัด ปัจจุบันสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหลายๆ รายได้สะดวกขึ้น ทั้งผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำ ที่มีการขยายสาขาในต่างจังหวัดหลายๆ แห่ง รวมถึงผู้ประกอบการสร้างบ้านในท้องถิ่น ที่มีการปรับตัวและหันมาแข่งขันกับรายผู้นำด้วย อย่างไรก็ดี ด้วยเงื่อนไขของวงเงินกู้ยืมที่รัฐบาลกำหนดไว้ 7 แสน - 1.5 ล้านบาท สำหรับประชาชนกู้ยืมเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ในที่ดินของตัวเองนั้น ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำอาจไม่ได้อานิสงส์มากนัก เพราะส่วนใหญ่เน้นจับกลุ่มลูกค้าสร้างบ้านระดับราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป ยกเว้น ผู้ประกอบการรายที่เริ่มปรับตัวและหันมาจับตลาดบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางในท้องถิ่น ที่น่าจะได้ประโยชน์จากโครงการบ้านประชารัฐมากที่สุด
อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านของสมาคมฯ พบว่ายังมีผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกทั้ง 2 สมาคม แต่ถือว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง โดยแตกไลน์ธุรกิจมาจากผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ สามารถให้บริการได้ทั้งในรูปแบบ "รับสร้างบ้านครบวงจร" ที่มีนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีก่อสร้างทันสมัยจากประเทศญี่ปุ่น และอีกรูปแบบหนึ่งคือ "บริการให้คำปรึกษา คำนวณปริมาณและราคาวัสดุ พร้อมมีบริการติดตั้งวัสดุเฉพาะอย่าง หรือแนะนำผู้รับเหมาในเครือข่ายเป็นผู้ก่อสร้าง" ผ่านร้านค้าตัวแทนจำหน่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด การให้บริการในลักษณะดังกล่าว เริ่มรุกทำตลาดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้หากพิจารณาในแง่การแข่งขันก็นับได้ว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญของบริษัทรับสร้างบ้าน แต่หากมองในแง่การปลุกตลาดบ้านสร้างเอง ก็ถือว่าเป็นการรุกตลาดที่น่าจับตา
ทั้งนี้ การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ถือว่าเป็นความท้าทาย สำหรับผู้ประกอบการรายเดิมๆ ที่อยู่ในธุรกิจรับสร้างบ้านนี้มาก่อน เพราะในอดีตเคยแต่แข่งขันกับรายย่อยเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่รุกเข้ามาใหม่นั้น มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีก่อสร้างที่ทันสมัย สามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ทั่วประเทศ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายเดิมๆ ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการก่อสร้างที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งนับวันก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี สมาคมฯ เห็นว่าการเข้ามาของรายใหม่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับรายเดิมและภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้าน ข้อดีเช่น ก่อให้เกิดการพัฒนาและแข่งขันกัน เพื่อตอบสนองผู้บริโภคมากขึ้น ฯลฯ ส่วนข้อเสียก็มีบ้าง เช่น ผู้ประกอบการชั้นนำรายเดิมที่ไม่ปรับตัวเอง ย่อมจะเสียแชร์ส่วนแบ่งตลาด และอาจตกเทรนด์หรือก้าวไม่ทันผู้ประกอบการที่เข้ามาใหม่ๆ เป็นต้น
โอกาสและการปรับตัว
จากการปรับตัวของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำในปัจจุบัน หลายๆ รายเริ่มหันมามุ่งขยายสาขาต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่มากขึ้น ได้แก่ พีดีเฮ้าส์ ในฐานะผู้บุกเบิกตลาดอย่างจริงจังรายแรก และมีรายผู้ท้าชิงหรือผู้ตาม เช่น รอแยลเฮ้าส์ แลนดี้โฮม โฮมแสตนดาร์ด ฯลฯ ภาพดังกล่าวอาจสะท้อนให้เห็นถึง การปรับตัวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ที่ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่คู่แข่งขันมีจำนวนเพิ่มขึ้นสวนทางกัน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดังกล่าวข้างตันสามารถมองได้หลายมุมมอง กล่าวคือ 1.เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดเดิมที่เริ่มอิ่มตัว (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) 2.เพื่อปรับตัวตามสถานการณ์และพฤติกรรมผู้บริโภค และ 3.เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมฯ ได้สำรวจความเห็นของประชาชนที่มีแผนจะสร้างบ้านในปี 2559 เกี่ยวกับแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้เพื่อการว่าจ้างปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ โดยผลสำรวจพบว่า ประชาชนใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินหรือธนาคารร้อยละ 76 และใช้เงินสดหรือเงินออมร้อยละ 24 ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวออกมาตรงกันข้ามกับการสำรวจและสภาพความเป็นจริงเมื่อปีที่แล้ว กล่าวคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80 ใช้เงินสดหรือเงินออมว่าจ้างปลูกสร้างบ้าน ข้อมูลตามข้างต้นนี้ ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ที่ผู้ประกอบการควรมีการวิเคราะห์และปรับกลยุทธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ภายใต้โครงการ"บ้านประชารัฐ" ของรัฐบาล แม้จะครอบคลุมที่อยู่อาศัยของประชาชนประเภท "บ้านสร้างเอง" แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าส่งผลต่อภาคธุรกิจรับสร้างบ้านน้อยมาก ด้วยเพราะเงื่อนไขที่จำกัดมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือราคาบ้านและแปลงที่ดินที่ใช้ปลูกสร้าง รวมถึงวงเงินกู้ยืมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท หากมองภาพรวมมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ครั้งนี้ ไม่ได้ตอบโจทย์ประชาชนที่ต้องการสร้างบ้านเองและผู้ประกอบการรับสร้างบ้านอย่างที่เข้าใจกันในเบื้องต้น
ข้อเสนอส่วนตัว ที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลก็คือ ควรเปลี่ยนมากระตุ้นอสังหาฯ โดยเน้นกลุ่มประชาชนที่มีเงินออมเก็บไว้นิ่งๆ ด้วยเพราะเงินที่ประชาชนกลุ่มนี้ เก็บหรือฝากไว้ในธนาคารฯ นั้นก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจน้อยมาก ขณะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการส่งออกถดถอย และรัฐบาลต้องการแรงซื้อจากภายในประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า ทั้งนี้รัฐบาลสามารถออกมาตรการจูงใจทางภาษีหรือมาตรการอื่นๆ ออกมากระตุ้นกำลังซื้อกลุ่มนี้ ซึ่งไม่อยากให้มองแค่ว่าเป็นมาตรการการช่วยคนรวย แต่อยากให้มองว่า เมื่อประชาชนนำเงินออกมาลงทุนสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังใหม่ ย่อมก่อให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ มีการจ้างงานและการผลิตต่อเนื่อง ทั้งผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง วัสดุตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภท "บ้านสร้างเอง" ที่ความต้องการของประชาชนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ นายสิทธิพร กล่าวทิ้งท้าย