กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล. ) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) แถลงข่าวเดินหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ณ ห้องเอนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยได้มอบหมาย สจล. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กม. และพื้นที่นำร่องสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตรจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แนวคิดหลัก "เจ้าพระยาเพื่อทุกคน" (Chao Phraya for All) โดยฟื้นฟูแม่น้ำ พัฒนาภูมิทัศน์ และทางเดิน-ปั่นจักรยานบางส่วนเลียบแม่น้ำ บางส่วนวกเข้าพื้นดินริมฝั่ง เชื่อมต่อนันทนาการ วัฒนธรรม พื้นที่สีเขียวและระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทุกคนและคนพิการสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้อย่างเท่าเทียมกัน เผยลงพื้นที่พบปะ 31 ชุมชนและจะออกแบบร่วมกันโดยแตกต่างไปตามอัตลักษณ์และสะท้อนคุณค่าวิถีวัฒนธรรมของแต่ละย่าน
นายพีระพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่าแม่น้ำเจ้าพระยา เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประเทศไทยและหล่อหลอมวิถีชีวิตวัฒนธรรม เคียงคู่กรุงเทพมหานครมายาวนานเป็นระยะเวลา 234 ปี ปัญหาริมน้ำเจ้าพระยาที่ผ่านมามีหลายด้าน เช่น ปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำ โดยจำกัดการเข้าถึงเฉพาะบางกลุ่ม เช่น ผู้ประกอบการริมน้ำ และบ้านริมน้ำเท่านั้น ทำให้การใช้พื้นที่สาธารณะตลอดแม่น้ำขาดความต่อเนื่อง นอกจากนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังมีปัญหาการรุกล้ำ คุณภาพน้ำ และปัญหาคุณภาพชีวิตของชุมชนริมน้ำ ได้เวลาแล้วที่คนไทยจะหันมาฟื้นฟูดูแลแม่น้ำ พัฒนาภูมิทัศน์งดงามให้สมกับเป็นมรดกชาติ สอดคล้องกับนันทนาการ วัฒนธรรมและส่งเสริมพัฒนาชุมชนสองฝั่ง เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2559 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างเป็นที่ปรึกษางานสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 210 วัน โดยในการดำเนินการของที่ปรึกษาจะประกอบด้วยงานสามส่วนหลัก ดังนี้ 1.) ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 57 กม. เริ่มตั้งแต่ สะพานพระราม 7 ถึง สุดเขตกรุงเทพมหานคร (ฝั่งตะวันออก ประมาณ 36 กิโลเมตร ฝั่งตะวันตก ประมาณ 21 กิโลเมตร) 2.) งานสำรวจออกแบบรายละเอียดและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด ( EIA ) 14 กม. พื้นที่ศึกษา จะเริ่มจากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อก่อสร้างเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจุดอื่นๆ ในอนาคต 3.) งานประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ
ในระยะเวลาทำงาน 210 วัน เรามุ่งเน้นประสิทธิภาพการทำงานแบบคู่ขนานและบูรณาการทุกฝ่ายไปพร้อมกันทำให้งานมีคุณภาพและรวดเร็ว ในปีที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ได้ทำการศึกษาแผนแม่บทโครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ระยะทางสองฝั่ง 140 กิโลเมตร จากจังหวัดปทุมธานี ผ่านนนทบุรี กรุงเทพมหานคร ถึง คลองลัดโพธิ์ จังหวัดสมุทรปราการ ผลการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อ ธ.ค. 2558 ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการจัดทำแผนแม่บท 57 กม. ของกรุงเทพมหานคร ด้วย
ขณะนี้ยังมีประชาชนบางส่วนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับโครงการว่าจะทำถนนรถวิ่ง มีเสาตอม่อในน้ำ 400 ต้น ทำลายระบบนิเวศ หรือ สูงจนบดบังทัศนียภาพ หรือใช้งบประมาณ 14,000 ล้านบาท สำหรับ 14 กม.นั้นขอให้หายกังวลใจ เพราะการศึกษาสำรวจโดย สจล.จะเริ่มใหม่ทั้งหมดโดยมุ่งเน้นความยั่งยืนและสืบสานวัฒนธรรม และการออกแบบจะทำร่วมกับชุมชนโดยสะท้อนคุณค่าของแต่ละย่าน ส่วนค่าก่อสร้างจริงจะทราบเมือแบบแล้วเสร็จเสียก่อน โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาภูมิทัศน์พื้นที่สาธารณะริมน้ำเพื่อประชาชนทุกคนทุกระดับได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ตามนโยบายของรัฐบาล กทม.มั่นใจว่าผลการศึกษาของที่ปรึกษาทั้งสองสถาบัน จะทำให้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคน ความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกกลุ่มจะสนับสนุนให้โครงการก้าวสู่ความสำเร็จ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวว่ากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคอาเซียน เกิดการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นกลายเป็นเมืองที่แออัด กรุงเทพมหานครประสบภาวะวิกฤตในหลายด้าน สัดส่วนพื้นที่สาธารณะสีเขียวต่อประชากร 1 คนตามมาตรฐานสากล คือ 15 ตารางเมตรแต่กรุงเทพมหานครมีพื้นที่สาธารณะสีเขียวต่อประชากร 1 คน เพียง 4.47 ตารางเมตร ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานโลก (ที่มา:www.bangkokgreencity.bangkok.go.th) จึงมีความจำเป็นในการเพิ่มพื้นที่สาธารณะสีเขียวสำหรับการพักผ่อนและสร้างแรงบันดาลใจของคนเมืองและคุณภาพของเมือง
พื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีศักยภาพในการรองรับกิจกรรมต่างๆ ของเมือง เช่น กิจกรรมนันทนาการ การพักผ่อน แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คมนาคมขนส่ง เราจะสังเกตเห็นพื้นที่ริมแม่น้ำของเมืองหลักๆ ในต่างประเทศทั่วโลกก็จะมีการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ ไม่ว่าจะเป็น เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ โซล นิวยอร์ค ฮุสตัน มอสโคว ออสโล แม้แต่เพื่อนบ้านของเรา กัวลาลัมเปอร์ ก็หันมาฟื้นฟูแม่น้ำคูคลองเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะริมน้ำที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิต คุณภาพของเมืองและรองรับเศรษฐกิจของเมืองได้หลากหลาย
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ประโยชน์รอบด้าน คือ ประชาชน ชุมชน และเมือง 1.ประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำได้สะดวก ปลอดภัย เพื่อพักผ่อนหย่อนใจและใช้ประโยชน์ด้านนันทนาการสุขภาพ วัฒนธรรมและกิจกรรม รวมถึงมีโอกาสได้พบปะและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของประชาชนกับแม่น้ำเจ้าพระยา และยังสร้างทางเลือกใหม่ในการเดินทางที่เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ รถ เรือ ราง เดิน ปั่นมากขึ้น 2.ประโยชน์ต่อชุมชน คือ ส่งเสริมคุณค่าวิถีวัฒนธรรมจุดเด่นในชุมชน พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในชุมชนครอบครัว และผู้สูงวัยในชุมชน มีพื้นที่ส่วนกลางเพิ่มขึ้น เยาวชนมีพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ เชื่อมต่อการสัญจรในชุมชนกับพื้นที่สาธารณะและระบบขนส่ง ช่วยให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 3.ประโยชน์ต่อเมือง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาพื้นที่ในภาพรวมให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน มีการขยายตัวและเติบโตของกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ริมน้ำ สร้างโครงข่ายทางเดิน-ปั่นเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และระบบขนส่งรถ-เรือ-ราง อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพน้ำและสภาพแวดล้อม ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์รวมถึงสนับสนุนระบบป้องกันน้ำท่วมของกทม.ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
สจล.และมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความพร้อมด้านบุคลากร ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ชลศาสตร์ การมีส่วนร่วมของประชาชน สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ผสานการใช้เทคโนโลยีและซอร์ฟแวร์ เช่น การใช้โดรนในการถ่ายภาพทางอากาศ การใช้เทคโนโลยี โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย มาช่วยในการพัฒนางานออกแบบสามารถทำให้สถาปนิกและวิศวกรสามารถวิเคราะห์ข้อมูลกับรูปแบบที่เหมาะสมในทุกขั้นตอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจึงสามารถฟื้นฟูดูแลแม่น้ำให้กลับมามีสุขภาพดี ดึงให้คนไทยหันมารักผูกพันกับแม่น้ำอีกครั้งและตลอดไป เราทุ่มเทมุ่งมั่นผสานรวมคุณค่าของแม่น้ำ เชื่อมโยงวันวาน-วันนี้-และอนาคต มอบเป็นมรดกแก่คนรุ่นใหม่สืบไป
รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีกรอบหลักการแนวคิดคือ เจ้าพระยาเพื่อทุกคน (Chao Phraya for All ) มาจากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการมอบเป็นพื้นที่สาธารณะแก่ประชาชนทุกคนทุกระดับได้เข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเท่าเทียมกัน และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์และโครงข่ายทางเดินเลียบแม่น้ำ เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และระบบขนส่งสาธารณะรถ เรือ ราง โดยมีแนวคิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนทุกคน, เป็นการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและชุมชนให้ยั่งยืน, การอนุรักษ์วิถีและวัฒนธรรมริมน้ำ, การพัฒนาภูมิทัศน์วัฒนธรรม และทางเดิน-ปั่นที่เป็นมิตรกับ คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม, ส่งเสริมการใช้พื้นที่ในรูปแบบที่หลากหลาย, เชื่อมโยงให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในระดับชุมชนและสังคม, พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำ, ส่งเสริมประสิทธิภาพการป้องกันน้ำท่วมของ กทม. ที่มีอยู่เดิม, แก้ปัญหาการรุกล้ำด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม และเคารพสิทธิ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การทำงานของ สจล. ต้องศึกษาทั้งด้านภูมิสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยละเอียด รวมถึงเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยามีลักษณะเป็นการพัฒนาภูมิทัศน์และทางเดิน-ปั่น บางช่วงเลียบแม่น้ำ บางช่วงวกเข้าแผ่นดิน โดยเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และการเดินทางขนส่งสาธารณะ รถ เรือ ราง การพัฒนาภูมิทัศน์ของแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีทัศนียภาพงดงามเป็นเอกลักษณ์ชุมชนของประเทศนั้น ออกแบบร่วมกับชุมชนโดยสะท้อนอัตลักษณ์ที่แตกต่างของแต่ละย่าน ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบเดียวกันตลอดแนว อาจจะเป็นการพัฒนาตามแนวทางเดิมของชุมชนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ประชาชนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน
เป้าหมายการดำเนินโครงการตามกรอบระยะเวลา 7 เดือน ของการจัดทำแผนแม่บทระยะ 57 กิโลเมตร (สะพานพระราม 7 - บางกระเจ้า) และระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เริ่มจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม สำหรับระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร คณะทำงานได้วางแผนการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นออกเป็นรายชุมชน 31 ชุมชน ส่วนการจัดทำแผนแม่บทระยะ 43 กิโลเมตรที่เหลือ จะลงชุมชนทั้งหมด 13 เขต ไม่นับรวมกับสถานที่สำคัญในพื้นที่ ซึ่งทีมการมีส่วนร่วมได้วางแผนเข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางการพัฒนาแยกจากการลงชุมชน เช่นสถานที่ราชการ ศาสนสถาน หรือสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจะทำควบคู่ไปกับกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ศึกษา สำรวจชุมชน โดยระดมทีมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข้อสรุปเบื้องต้นของชุมชนทั้ง 4 เขตที่อยู่ในพื้นที่นำร่องระยะทาง 14 กิโลเมตร คือ เขตพระนคร เขตบางซื่อ เขตบางพลัด และเขตดุสิต พบว่า ชุมชนส่วนใหญ่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงของโครงการ แต่เมื่อพบปะชี้แจง แล้วชุมชนก็เข้าใจและให้ความร่วมมือกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างดี ปัญหาของชุมชนต่างๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ปัญหาน้ำเสีย น้ำท่วมขังกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เขื่อนเดิมบังทิวทัศน์และทางลม ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำซึ่งรอการเยียวยาและช่วยเหลือจากรัฐบาล เส้นทางสัญจรภายในชุมชนคับแคบ มืดและไม่ปลอดภัย ชุมชนขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากประชาชนจะสนับสนุนประชาชนจะสนับสนุนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ยังมีข้อเสนอแนะว่า ต้องการให้เพิ่มพื้นที่สาธารณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงความปลอดภัยชุมชนริมน้ำ
รศ.ดร.สกุล กล่าวต่อว่า ในด้านการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีหนังสือแจ้งเลขที่ ทส 1009.8/7445 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2558 โครงการนี้ไม่จำเป็นต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครเห็นว่าแม้จะไม่เข้าข่ายจะต้องจัดทำ EIA ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม อันเป็นการชี้แจงและตอบประชาชนได้ ประกอบกับในสัญญาจ้างศึกษาและออกแบบ กำหนดขอบเขตงานที่ว่าจ้าง ในเรื่อง EIA ไว้ด้วย จึงจะจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ด้วย แต่เพื่อให้การศึกษาโครงการฯ ครอบคลุมรอบด้าน จึงกำหนดให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย โดยศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) สำหรับแผนแม่บท ครอบคลุมระยะ 57 กิโลเมตร และศึกษา EIA สำหรับช่วงระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สำหรับงบประมาณก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยานั้น เป็นการเริ่มศึกษา สำรวจ ออกแบบใหม่ โดยไม่ได้ยึดโยงกับตัวเลข หรือขนาดความกว้างหรือรูปแบบใดๆ ในอดีต ที่ผ่านมา เมื่อผลการศึกษา สำรวจและออกแบบแล้วเสร็จ ถึงจะประเมินราคาก่อสร้างได้
สำหรับรายงานการออกแบบเบื้องต้นและแบบเบื้องต้น (Preliminary Drawing) ทางเดิน-ปั่นระยะนำร่อง 14 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนเมษายน ส่วนรายงานการศึกษาผลกระทบด้านชลศาสตร์และอุทกวิทยาและการป้องกันน้ำท่วม และรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) ระยะทาง 2 ฝั่ง 57 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ด้านรูปแบบรายละเอียด (Detailed Design Drawings) และเอกสารประมาณราคาค่าก่อสร้างจะแล้วเสร็จปลายเดือนสิงหาคม และแบบเชิงหลักการ (Conceptual design drawings) 57 กิโลเมตร, รายงานแผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานครฉบับสมบูรณ์, รายงานขั้นสุดท้ายและรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ จะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนพร้อมนำเสนอต่อกทม. และคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการ
ผศ.นพปฎล สุวัจนานนท์ สถาปนิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวถึงความหลากหลายของงานสถาปัตยกรรมกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาว่า เนื่องจากภูมิทัศน์วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของพื้นที่ตลอดแม่น้ำเจ้าพระยามีความแตกต่างกันทั้งเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินและวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากอุทกภัย ระบบนิเวศ ที่ต้องให้ความสำคัญในการออกแบบด้วย เพื่อให้พื้นที่สาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันนั้น สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และวิถีชีวิตชุมชน กล่าวคือ การออกแบบต้องมองอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึง ประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, ความต้องการของชุมชน, ประโยชน์ การใช้งาน และความสวยงามเข้ากับอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ โดยทีมสถาปนิกโครงการได้เข้าร่วมลงพื้นที่กับทีมมีส่วนร่วมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและศึกษาวิถีชุมชน นำมาซึ่งกระบวนการร่วมออกแบบกับชุมชนเพื่อประโยชน์ยั่งยืน
ด้านอาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ภูมิสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และชุมชน กล่าวถึง การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำอย่างยั่งยืน ว่า ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับคนในพื้นที่ เริ่มต้นจากการให้ความรู้แก่ประชาชน ชุมชน และเมือง ในเรื่องที่กำลังจะพัฒนา เพื่อให้คนในพื้นที่และประชาชนสังคมรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง และสร้างความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของร่วมกันสำหรับแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำอย่างยั่งยืนประกอบด้วย 1.นำกระบวนการ อนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ต่อยอด อย่างบูรณาการ บนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและประสบการณ์ทางนิเวศน์ธรรมชาติและภูมิทัศน์วัฒนธรรม จากมรดกที่ยั่งยืน ที่สืบทอดมายาวนานและผ่านการพิสูจน์ 2.ผสานกับองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นและยั่งยืนขึ้น 3.ภายใต้การมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อย่างเข้มข้นในทุกมิติ เพื่อการร่วมฟังร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำและร่วมบริหารจัดการ 4.โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นตัวขับเคลื่อน 5.เพื่อนำสู่การปฏิบัติ คือ การพัฒนาคนและกายภาพแวดล้อมบนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญา มรดก และผลคือ ความยั่งยืน ต่อไป