กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
อาจารย์และนักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้ประกอบการโอทอป เพื่อช่วยพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐานที่สูงขึ้นและเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาด
ผศ.สุมานิการ์ จันทร์บรรเจิด ที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม ให้ความสำคัญและมุ่งพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการสินค้า โอทอป เพราะถือเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยองค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และมุ่งสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้นและแข่งขันได้ในระดับสากล ทั้งยังเสริมสร้างศักยภาพและยกระดับกระบวนการผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์สู่สากล โดยมีทีมวิทยากรและนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ร่วมให้ความรู้ในเชิงปฏิบัติการ ซึ่งผู้ประกอบการให้การตอบรับเป็นอย่างดีมาก
ด้าน นายคมสัน เรืองโกศล อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ซึ่งเป็นวิทยากรในโครงการ เล่าว่า สินค้าโอทอปเป็นผลผลิตจากชุมชนตามแต่ละจังหวัด ซึ่งจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้สินค้านั้นมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมในโครงการ ต่างก็มีสินค้าที่มีศักยภาพดีอยู่แล้ว หากได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมอีก ก็มั่นใจว่าจะทำให้สินค้าเหล่านั้นมีคุณภาพมาตรฐานที่สูงขึ้น มีความโดดเด่นและสามารถแข่งขันทางการตลาดที่สูงขึ้นได้ โดยตนทำหน้าที่ให้ความรู้และให้คำปรึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในด้านบรรจุภัณฑ์ ด้านคุณภาพมาตรฐานและด้านการตลาด โดยเน้นรูปแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ เหมาะสมและสวยงาม
ดร.ชมจันทร์ ดาวเดือน อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี วิทยากรอีกท่านหนึ่ง ให้ความเห็นว่า เป็นโอกาสที่ดีในการช่วยเติมความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน ในส่วนของอาจารย์นอกจากการให้คำปรึกษาเชิงลึกแล้ว ยังได้รับโจทย์หรือปัญหาใหม่ ๆ มาต่อยอดงานวิจัย ขณะที่นักศึกษาจะได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมด มาช่วยพัฒนาสินค้าโอทอป และผู้ประกอบการจะได้แนวทางเพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาสินค้าของตนเองต่อไป
ตัวแทนผู้ประกอบการที่เข้าร่วม อย่างเช่น นางเสื้อง บุญมาลา อายุ 60 ปี ตัวแทนกลุ่มสตรี เย็บเสื้อผ้าบ้านนายาว อ.สนามชัย ที่นำผลิตภัณฑ์หุ้มกล่องกระดาษ ประเภทของใช้ของตกแต่งมาร่วมพัฒนา เล่าว่า อยากเสริมแต่งภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้ดูทันสมัย ดึงดูดใจผู้ซื้อ หรือทำให้เหมาะกับการเป็นของขวัญของฝาก ซึ่งแต่เดิมผลิตภัณฑ์หุ้มกล่องกระดาษจะบรรจุซองใสแล้วขายตามปกติ จึงอยากได้ไอเดียของคนรุ่นใหม่ ๆ มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้วรู้สึกได้รับความรู้ แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้ที่ปรึกษามืออาชีพ และได้เห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งนำไปใช้พัฒนาต่อยอดได้ทันที
ด้านนักศึกษาที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์หุ้มกล่องกระดาษ "นิว" นายอภิชัย อภิสิทธิ์หลักชัย สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ ชั้นปีที่ 3 เล่าว่า หลังจากรับโจทย์จากผู้ประกอบการ ได้ร่างแบบบรรจุภัณฑ์ขึ้น โดยเลือกชูจุดเด่นของสินค้านั่นคือ หัวช้าง และถือเป็นส่วนที่มีน้ำหนักมากที่สุด จึงนำรูปทรงของพีระมิดมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เพราะพีระมิดมีลักษณะฐานใหญ่และแข็งแรง เมื่อได้แบบที่สมบูรณ์แล้ว สามารถสั่งพิมพ์แล้วตัดตามแบบได้ด้วยตนเอง
ส่วน "มิ้น" น.ส.สุรางคนา แสงศรี นักศึกษาสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 2 เล่าว่า ตนรับหน้าที่ช่วยออกแบบพัฒนาต่อในส่วนของกราฟิก เมื่อบรรจุภัณฑ์เน้นส่วนหัวช้างแล้ว คิดว่าการใส่ลวดลายกราฟิกตรงส่วนพีระมิดจะทำให้ชิ้นงานน่าสนใจ จึงเลือกอากัปกิริยาของช้างจากที่เคยเห็นการแสดงของช้างในท่าทางนั่งย่อตัว มาใช้เป็นลวดลาย
"การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ช่วยแก้ปัญหาตามโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ช่วยให้เกิดการพัฒนาและช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ที่สำคัญรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอปของไทย และอยากให้คนไทยช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์โอทอปไทยให้มากยิ่งขึ้น" มิ้น กล่าวทิ้งท้าย