กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--สวทช.
ปัจจุบัน สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเกิดการชะลอตัวในด้านการลงทุน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนานวัตกรรม (Innovation Development Fund : IDF) หรือ กฟน.ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการปรับโครงสร้าง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการผลิต การค้า การลงทุน การจัดการ และการตลาด โดยไม่จำกัดวงเงินสนับสนุน ในรูปของเงินอุดหนุน เงินกู้ เงินลงทุน หรือหลายรูปแบบรวมกัน พร้อมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำ หรือสนับสนุนเบื้องต้นในการเตรียม และพัฒนาโครงการ ตลอดจนช่วยประสานในด้านส่งเสริมการตลาด ซึ่งผู้มีสิทธิขอรับการสนับสนุน ได้แก่ หน่วยงานเอกชน บุคคลทั่วไป หรือหน่วยงานราชการ โดยโครงการจะเน้นให้ความสำคัญแก่ผู้ที่มีศักยภาพในการทำโครงการสำเร็จได้ในเชิงพาณิชย์ และสามารถเผยแพร่ส่งเสริมความคิดด้านนวัตกรรมในวงกว้าง โดยมีกองทุนที่ได้รับจากรัฐบาลเบื้องต้น 100 ล้านบาท เพื่อนำมาลงทุนในธุรกิจของเอกชนที่น่าสนใจ ได้แก่ โครงการที่นำเอาเทคโนโลยี หรือวิธีการใหม่มาปรับปรุงธุรกิจ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตที่มีผลทำให้เกิดประสิทธิภาพ หรือเพิ่มผลกำไรที่ดีมากขึ้น หรือเป็นโครงการที่เกี่ยวกับริเริ่มธุรกิจบริการ หรืออุตสาหกรรมประเภทใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนในประเทศ รวมไปถึงการริเริ่มของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) และการทำอี-คอมเมิร์ซ ที่มีนวัตกรรมอย่างชัดเจน
วัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนานวัตกรรมนั้น มุ่งที่จะผลักดันให้ภาคเอกชนเติบโต และแข็งแกร่ง และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารเศรษฐกิจเข้าไปช่วยในการดำเนินการ และผลักดัน โดยมีกลไกของการกระตุ้นให้เกิดการนำการบริหารเรื่องเงินเข้ามามีส่วนในการดำเนินการ สวทช. จึงได้จัดตั้งกองทุนพัฒนานวัตกรรม หรือ กพน. ได้รับการอนุมัติตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2541 ให้ตั้งคณะกรรมการบริหาร และเริ่มดำเนินงานในปี 2543 นี้ ซึ่งในขณะนี้ มีบริษัทขนาดเล็กในโครงการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ประมาณ 30-40 บริษัท ที่มีการจองเช่าพื้นที่ไว้ล่วงหน้าแล้วก็สามารถเสนอโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนทุนในการดำเนินการได้ตั้งแต่ 4-5 ล้านบาท จนกระทั่งถึง 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการให้ทุนเพื่อการวิจัย และพัฒนา และต่อยอดเพื่อเป็นการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดการวิจัย และพัฒนาอย่างเข้มแข็งเกิดขึ้นในภาคเอกชน โดยการสนับสนุนในสามลักษณะคือ เงินให้เปล่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการลงทุนร่วมในลักษณะของการถือหุ้น ที่กล่าวมานี้ เป็นโครงการเบื้องต้นในการพัฒนา จนกระทั่งสามารถที่จะพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไปจนถึงการส่งเสริมการส่งออกทางการค้า และความสามารถในเรื่องการลงทุน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีเผยแพร่ออกไปสู่ภาคเอกชนด้วย
กองทุนพัฒนานวัตกรรมนี้ ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กล่าวว่า จะมีความแตกต่างไปจากการปล่อยเงินกู้ของธนาคารทั่วไป เนื่องจากเป็นการให้การสนับสนุนทางการเงินที่เน้นให้ธุรกิจเติบโต และเข้มแข็งขึ้น ส่วนธนาคารทั่วไปมีการปล่อยเงินในอีกรูปแบบหนึ่ง อาทิเช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ กองทุนพัฒนานวัตกรรมในลักษณะของการให้ทุนแบบ Venture Capital โดยการเริ่มแรกจะเป็นการให้ทุนสนับสนุนแบบที่ไม่แสวงหากำไร (Non-Profit) แก่หน่วยงาน เอกชน บุคคลทั่วไป หรือหน่วยงานราชการ โดยมีงบประมาณจากกระทรวงการคลังให้ทดลองในขั้นแรก 100 ล้านบาท แต่ในอนาคตมีโอกาสขยายเป็นพันล้านบาท
ดร.ธีระ พงศ์อนันต์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนานวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กล่าวถึงโครงการ กองทุนพัฒนานวัตกรรม ว่า การให้ทุนในลักษณะที่จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ขบวนการใหม่ มีการพัฒนาขั้นตอน ซึ่งนวัตกรรมเป็นของใหม่ คิดค้น หรือริเริ่มขึ้นใหม่ โดยอาจจะใหม่ในพื้นที่ หรือใหม่ในองค์กร เป็นสิ่งที่ริเริ่มประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ ปรับปรุงโครงการอย่างชัดเจน และมุ่งให้เกิดการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันมีการเสนอโครงการกว่า 30 โครงการ มีทั้งโครงการเล็ก และใหญ่ (ซึ่งมีธุรกิจอยู่แล้ว หรือริเริ่มขึ้นมาใหม่) โครงการใหญ่ในลักษณะที่เป็นยุทธศาสตร์ และการจัดการของประเทศ (Strategic Project) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ ในขั้นแรก กระทรวงการคลังให้เงินทดลองแค่ 100 ล้านบาท โครงการเล็กจะมีระยะเวลายาวนานตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 2 ปี ส่วนโครงการใหญ่ระยะเวลาจะยาวนานกว่านั้น ผู้ที่เสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนสำหรับการวิจัย และพัฒนา โดยกองทุนพัฒนานวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จุดสำคัญยิ่งคือ จะเป็นการให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาให้ภาคเอกชน หรือให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาผ่านทางมหาวิทยาลัยของรัฐ ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาแก่ภาคเอกชน (Company Directed) หรือการสนับสนุนผ่านกองทุนพัฒนานวัตกรรมโดยตรง และในอนาคตอาจมีการจัดตั้งธนาคารเทคโนโลยีขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคเอกชน เพื่อมุ่งที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต โดยที่กองทุนพัฒนานวัตกรรมไม่มีเจตนาเป็นเหมือนธนาคาร ที่มุ่งให้เงินกู้เพื่อต้องการดอกเบี้ย เพื่อจะได้ผลกำไรตอบแทนกลับมา แต่มุ่งเน้นให้ธุรกิจเติบโต และนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ กองทุนพัฒนานวัตกรรม ยังจะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับโครงการสร้างพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ที่ถือว่ามีความจำเป็นในการพัฒนาระบบโครงสร้าง หรือพื้นฐานทางการศึกษา ทั้งนี้ อาจไม่มีผลกำไรจากการประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา เป็นต้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจสังคม และสุขอนามัย หรือสิ่งแวดล้อม ข้อมูลจาก ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.ธีระ พงศ์อนันต์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนานวัตกรรม, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานคณะกรรมการกองทุนพัฒนานวัตกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โทรศัพท์ 644-8150-4 ต่อ 309, 604 โทรสาร 644-8137-8 e-mail : pr@nstda.or.th-- จบ--
-สส-