กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ ชงเปิดตลาดหัวพันธุ์มันฝรั่ง-หัวมันฝรั่งสดแปรรูป ตามความตกลง WTO ล่าสุดครม.ไฟเขียว เตรียมจับมือภาคเอกชนจัดทำโครงการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งทดแทนการนำเข้า หวังให้เกษตรกรได้รับหัวพันธุ์มันฝรั่งในราคาถูกกว่าเดิม ได้กำไรเพิ่มขึ้น พร้อมเล็งหาพื้นที่ที่เหมาะสมและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตหัวมันฝรั่งสดทดแทนการนำเข้า
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการเปิดตลาดหัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดแปรรูปตามความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เห็นชอบ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอการเปิดตลาดหัวพันธุ์มันฝรั่ง ปี 2559 ไม่จำกัดจำนวน อัตราภาษีร้อยละ 0 (ตามข้อผูกพันร้อยละ 27) และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125 และเห็นชอบการเปิดตลาดหัวมันฝรั่งสดเพื่อการแปรรูป ปี 2559 ปริมาณในโควตา 45,000 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 และอัตราภาษีนอกโควตา เป็นไปตามข้อผูกพัน
สำหรับการเปิดตลาดหัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อการแปรรูป ปี 2559 อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการจัดการผลิต และการตลาด กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่งกำหนด ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไข ดังนี้ 1. ให้นิติบุคคลเป็นผู้นำเข้า 2. ผู้นำเข้าต้องทำหนังสือรับรองพื้นที่ปลูก ซึ่งมีทะเบียนเกษตรกร และข้อมูลปริมาณหัวพันธุ์ ราคาขายหัวพันธุ์ และราคารับซื้อผลผลิตมันฝรั่ง โดยมีเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดรับรอง 3. ให้ผู้นำเข้าจำหน่ายหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์โรงงานให้แก่เกษตรกรในราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 35 บาท และ 4. ให้ผู้นำเข้ารับซื้อผลผลิตมันฝรั่งสดจากเกษตรกร ฤดูฝน (กรกฎาคม – ธันวาคม) ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14.00 บาท และฤดูแล้ง (มกราคม – มิถุนายน) ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.40 บาท และการนำเข้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อการแปรรูปภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดให้นำเข้าช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม ซึ่งขณะนี้ กลไกตลาด ที่บริษัทรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2559 รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 11.30 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้อยู่แล้ว
ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง และหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปแต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ เนื่องจากหัวพันธุ์มันฝรั่งที่นำเข้ามาปลูกยังไม่เพียงพอกับความต้องการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ประกอบกับมันฝรั่งเป็นพืชที่อ่อนไหวต่อการติดโรคมาก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีโครงการส่งเสริมปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2557 และจัดทำแปลงต้นแบบให้กับเกษตรกรไปแล้วทั้งหมด 47 แปลง ส่วนในปี 2558 จำนวน 27 แปลงของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และตาก และปี 2559 จำนวน 20 แปลง ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก สกลนคร และนครพนม เพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้เทคโนโลยีการปลูกมันฝรั่งและการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตจากเดิมไร่ละ 2,700 กิโลกรัม เป็นอยู่ระหว่างไร่ละ 3,000-3,200 กิโลกรัม
นอกจากนี้ ยังมีการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่ง G0 (เจนเนอเรชั่นที่ 0 ) ได้ประมาณ 30,000 - 40,000 หัว และ G1 – G3 (เจนเนอเรชั่นที่ 1-3 ) ปีละ 50 ตัน เป็นพันธุ์แอตแลนติก ให้ภาคเอกชนรับไปผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งขยายผลต่อไป ซึ่งสามารถลดการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งจากต่างประเทศ โดยจากอดีตที่ผ่านมามีการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์โรงงานปีละ 6,000-7,000 ตัน และในปี 2558 มีการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์โรงงานคงเหลือ 1,421 ตัน โดยเกษตรกรเคยซื้อพันธุ์มันฝรั่งที่นำเข้าจากต่างประเทศจากภาคเอกชนกิโลกรัมละ 35 บาท แต่หากใช้หัวพันธุ์มันฝรั่งที่ผลิตในประเทศ ซื้อไปปลูกจะเหลือเพียงกิโลกรัมละ 26 บาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดทำโครงการผลิตหัวพันธุ์มันฝรั่งทดแทนการนำเข้า เพื่อให้เกษตรกรได้รับหัวพันธุ์มันฝรั่งในราคาถูกกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถใช้หัวพันธุ์มันฝรั่งในแปลงปลูกมากขึ้นกว่าเดิม ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และได้กำไรเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตหัวมันฝรั่งสดเพื่อการแปรรูปทดแทนการนำเข้า ซึ่งมีระยะเวลาการปลูกในช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม-ธันวาคม) กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการหาพื้นที่ที่เหมาะสม และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหัวมันฝรั่งสดเพื่อการแปรรูปทดแทนการนำเข้าต่อไป