กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เตือนผู้ประกอบการกลุ่มเสี่ยงไฟไหม้ช่วงหน้าแล้ง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใย อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ อุตสาหกรรมพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี อุตสาหกรรมสี ไวไฟ อุตสาหกรรมกากหรือขยะ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมโกดังและคลังสินค้า โดยสาเหตุของการเกิดไฟไหม้บ่อยที่สุดคือ ไฟฟ้าลัดวงจร คิดเป็น 29% ของสาเหตุการเกิดไฟไหม้ทั้งหมด พร้อมเตรียมออกมาตรการเชิงรุกเพื่อลดจำนวนการเกิดอัคคีภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ 1. ฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย 2. เพิ่มความระมัดระวังงานที่ก่อให้เกิดประกายไฟ 3.เก็บรักษาวัสดุสิ่งของในพื้นที่อากาศถ่ายเท และ 4.จัดทำเอกสารเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเกิดเพลิงไหม้ และแบบประเมินตนเอง (Self-Checklist) เกี่ยวกับอัคคีภัย
สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4217, 0 2202 4222 หรือสายด่วน 1564
ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนที่สุดในรอบปี โดยอุณหภูมิเฉลี่ยสูงถึง 35-44 C ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ซึ่งจากสถิติการเกิดไฟไหม้ของโรงงานทั่วประเทศเมื่อปี 2558 พบว่าอุบัติเหตุในโรงงานทั้งหมด กว่า 73% เป็นการเกิดไฟไหม้ ซึ่งเกิดในอุตสาหกรรม 8 ประเภท ดังนี้
1.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใย 5%
2.อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ 8%
3.อุตสาหกรรมพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง 13%
4.อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี 6%
5.อุตสาหกรรมสี ไวไฟ 2%
6.อุตสาหกรรมกากหรือขยะ 5%
7.อุตสาหกรรมอาหาร 6%
8.อุตสาหกรรมโกดังและคลังสินค้า 28%
และพบว่า สาเหตุของการเกิดไฟไหม้บ่อยที่สุดคือ ไฟฟ้าลัดวงจร คิดเป็น 29% ของสาเหตุการเกิดไฟไหม้ทั้งหมด และนอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น การเชื่อม การซ่อมบำรุงที่ผิดวิธี การเสียดสีหรือสะสมความร้อนในกองวัสดุที่สามารถติดไฟได้ ความร้อนหรือประกายไฟจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น
ดร.พสุ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ จึงได้เตรียมออกมาตรการเชิงรุก เพื่อลดจำนวนการเกิดอัคคีภัยและลดความเสี่ยงเกิดไฟไหม้ ในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนี้
1. ฝึกอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย ในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกใช้อุปกรณ์ดับเพลิงอย่างถูกต้อง
2. เพิ่มความระมัดระวังงานที่ก่อให้เกิดประกายไฟ และความร้อนสูงเป็นพิเศษ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า การเชื่อม การตัด เจียร การเผา เป็นต้น
3. ให้ความสำคัญในการเก็บรักษา การจัดวางวัสดุ สิ่งของ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้ง่าย โดยจะต้องอยู่ในพื้นที่ระบายอากาศและถ่ายเท ไม่ให้เกิดการสะสมของไอระเหยของสารไวไฟ
4. เผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการเกิดเพลิงไหม้ ทั้งในรูปแบบเอกสารและทางเว็บไซต์ของกรมโรงงานฯ และแบบประเมินตนเอง (Self-Checklist) เกี่ยวกับอัคคีภัย เพื่อเป็นการประเมินสภาพความเสี่ยงของแต่ละโรงงานด้วยตนเองให้สามารถปรับปรุงแก้ไขความเสี่ยงให้อยู่ในระดับปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานฯ ยังแนะนำให้ทุกโรงงานจัดเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ดับเพลิงและเส้นทางหนีไฟต่างๆ ควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช้ไฟฟ้ามากเกินพิกัด ควรมีอุปกรณ์แจ้งเตือนอัคคีภัยอัตโนมัติ และต้องระมัดระวังสาเหตุอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การเผาหญ้าหรือขยะมูลฝอย ฯลฯ นอกจากนี้ กรมโรงงานฯ ยังเล็งเห็นความเสี่ยงที่อาจเกิดกับโรงงานที่ใช้ระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น ซึ่งจะทำงานหนักในช่วงฤดูร้อน โดยได้มีการจัดทำเอกสารเผยแพร่และแจ้งเตือนอุบัติเหตุทั้งในรูปแบบเอกสารและทางเว็บไซต์ของกรมโรงงานฯ ดร.พสุ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับได้ที่ สำนักเทคโนโลยีความปลอดภัย กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 02 202 4217 02 202 4222 หรือสอบถามข้อมูลโครงการส่งเสริมอื่นๆ โทร.0 2202 4014 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th หรืออีเมล์ pr@diw.mail.go.th