กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราเพื่อแก้ปัญหาราคายางอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าขยายพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคใต้ และพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ผ่านมา กสอ. ได้ดำเนินไปแล้วในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มโดยรวมให้แก่วิสาหกิจชุมชนได้กว่า 20 ล้านบาท นับเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำยางเพียงอย่างเดียว
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์ยางพาราล้นตลาดของประเทศไทยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนิน "โครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง" ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ตั้งแต่ปี 2558 สามารถพัฒนาสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชนรวมกว่า 480 ราย ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ กิจกรรมพัฒนาสถานประกอบการ กิจกรรมพัฒนาบุคลากร กิจกรรมสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมยาง ซึ่งจากการส่งเสริมดังกล่าวนอกจากจะช่วยนำยางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังสามารถสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ให้รองรับความต้องการของตลาด อาทิ ผลิตภัณฑ์กาวน้ำยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์พื้นในรองเท้าหรือแผ่นรองเท้า และผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูสนามเด็กเล่น เป็นต้น
สำหรับปี 2559 นี้ กสอ. ได้ขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในภาคใต้ โดยตั้งเป้าพัฒนาสถานประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอีกกว่า 500 ราย ตลอดจนมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ อาทิ สีเคลือบโลหะกันสนิมจากน้ำยางข้น และพื้นสนามแบดมินตันจากแผ่นยางรมควันสูตรใหม่ที่มีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ ทำให้เหมาะสมต่อการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย นับเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำยางเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีแผนจะขยายการดำเนินโครงการไปสู่พื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตยางพาราเพิ่มเติมในปี 2560 โดยเล็งพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งที่สามารถผลิตยางต่อปีรวมกว่า6-7 แสนตัน ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดยางพาราในภาพรวมในทิศทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณการผลิตยางทุกประเภทรวมกว่า 4.4 ล้านตัน มีปริมาณการส่งออกรวมถึง 3.7 ล้านตัน ซึ่งมีการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.6 (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยในปีนี้ มีการประมาณการผลผลิตจากยางพาราโลกสูงถึง 12.4 พันล้านตัน ขณะเดียวกันทั่วโลกจะมีความต้องการใช้ยางประมาณ 12.7 พันล้านตัน (ที่มา : IRSG และ The Economist Intelligence Unit, February 2015) เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.25ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ กสอ. ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินโครงการฯ ในปี 2559 ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่สำนักวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จ.สงขลา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ณ โรงแรมหรรษาเจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จ.สงขลา โทรศัพท์ 0 7421 1905-8 หรือ กองพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 คลองเตยโทรศัพท์ 0 2367 8133,0 2390 1397หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือ www.facebook.com/dip.pr