กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมมือกับ บมจ. ธนาคารกรุงไทย และ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รุกสร้างความรู้ตลาดจีนแก่ผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือ สตาร์ท อัพ (Startup) ภายใต้โครงการ เอสเอ็มอี จีเนียสเอ็กซ์พอร์ตเตอร์ (SMEsGeniusExporter) รุ่น 1 กว่า 15 หลักสูตร อาทิ กลยุทธ์การพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกฯลฯทั้งนี้สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยในจีน ได้แก่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ผลไม้อบแห้ง สินค้าหัตถกรรม เป็นต้น โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปจีนเฉลี่ยปีละกว่า 8 แสนล้านบาท
ดร. สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสอ. ได้นำผู้ประกอบการ ไปเปิดตลาดจีน ทั้งในรูปแบบสำรวจตลาด ออกร้านจำหน่ายสินค้า เจรจาจับคู่ธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทุกครั้งที่ไปก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากสินค้าไทยมีคุณภาพสูงแต่ราคาไม่แพง มีการออกแบบทันสมัย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย และที่สำคัญมีราคาไม่แพง ทำให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการในตลาดจีน และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม กสอ. ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องโดยได้ร่วมมือกับ บมจ. ธนาคารกรุงไทยและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการเอสเอ็มอี จีเนียสเอ็กซ์พอร์ตเตอร์ (SMEsGeniusExporter) ผ่านการพัฒนาหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพในด้านการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย (SMEs) 15 หลักสูตร อาทิ กลยุทธ์การพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออก กลยุทธ์ผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการส่งออก แนวโน้มและรสนิยมการบริโภคของประเทศจีน โอกาสและภาพรวมในการลงทุนในประเทศจีน เป็นต้น โดยรุ่นแรก ในปี 2559 จะมุ่งเน้นที่ประเทศจีนซึ่งครอบคลุมเนื้อหาที่จำเป็นต่อการเปิดตลาดสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการไทยในประเทศจีน ผ่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกไปประเทศจีนโดยเฉพาะ ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสในการเติบโตและเปิดตลาดธุรกิจในประเทศจีนต่อไป และในอนาคตจะมีการจัดอบรมในหลักสูตรขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังประเทศอื่นมากขึ้น อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการได้เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 100 ราย และเชื่อมั่นว่าการอบรบหลักสูตรเปิดตลาดจีนครั้งนี้ จะเป็นใบเบิกทางที่ดีที่จะสามารถเจาะตลาดจีนที่มีจำนวนประชากรรวมกว่า 1.45 พันล้านคนได้
การเปิดตลาดในต่างประเทศของผู้ประกอบการไทยควรได้รับการส่งเสริมและผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจเจริญเติบโตและเป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และสตาร์ทอัพ (Startup) ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจโดยหากผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวต้องการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศควรเริ่มต้นจากการมองหาช่องทางในการขยายตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน หรือประเทศที่ผู้บริโภคมีพื้นฐานความต้องการคล้ายคลึงกับไทย อาทิ ประเทศในกลุ่มอาเซียน +3 โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่ 2 ของโลก และเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับต้นๆ ของไทย ซึ่งมีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 14 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยในจีนได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ อาหารแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลไม้อบแห้ง สินค้าหัตถกรรมเป็นต้น ซึ่งไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปจีนเฉลี่ยกว่า 8 แสนล้านบาทต่อปี ดร. สมชาย กล่าว