กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ไอแอม พีอาร์
จังหวัดตราด องค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานส่งเสริมสังคมและการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมเปิดเวทีเสวนา "จุดเปลี่ยนการเรียนรู้ก้าวสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ...จังหวัดตราด" ระดมพลังผู้บริหารสถานศึกษา และสื่อมวลชนในจังหวัดตราด ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แผนการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อการมีงานทำใน 3 กลุ่มอาชีพ เพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จจาก 10 โรงเรียนที่จัดการศึกษาเพื่อการมีสัมมาชีพ หวังสร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์แผนขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อการมีสัมมาชีพลงสู่นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคคลากรครูในสถานศึกษา
นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยในเวทีเสวนาว่า จังหวัดตราดมีเป้าหมายในการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมบริการและระบบโลจิสติกส์ไปสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศกัมพูชา เวียดนาม และจีน
"วันนี้คนตราดต้องมาคิดและมองในภาพรวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษว่าเราจะใช้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ด้วยการปรับวิธีคิด มองให้ไกล เพื่อที่จะได้เตรียมความพร้อมให้กับลูกหลานของเรา ซึ่งในวันนี้สิ่งที่จำเป็นมากที่สุดก็คือเรื่องของภาษาและทักษะในด้านการขาย ที่สถานศึกษาต่างๆ นอกจากจะต้องจัดการศึกษาเพื่อสร้างทักษะอาชีพให้สอดคล้องกับการยุทธศาสตร์การพัฒนาของจังหวัดแล้ว ยังต้องเน้นเรื่องทักษะการขายและภาษาต่างๆ ของเพื่อนบ้านไปคู่กัน"
ด้าน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ กล่าวว่ามีความเชื่อมั่นว่าถ้าคนตราดทุกคนร่วมใจกัน เราจะสามารถเตรียมความพร้อมของคนตราดและจัดการศึกษาให้เด็กตราดให้มีทักษะและความพร้อมในการก้าวสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษด้วยการมีสัมมาชีพได้
"ไม่มีการพัฒนาอะไรที่ดีที่สุดเท่ากับการพัฒนาด้านการศึกษา เวทีวันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะได้เข้ามาทำความเข้าใจให้ตรงกันในการพัฒนาเด็กของเราให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาของจังหวัด โดย อบจ.ตราด พร้อมเดินหน้าปฏิรูปการเรียนรู้ และพร้อมสนับสนุนทุกโรงเรียนด้วยการเปิดพื้นที่และเวทีต่างๆ เพื่อสร้างทักษะอาชีพและทักษะการขายให้กับลูกหลานของคนตราด"
นายธัญญา หาญพล ประธานคณะกรรมการโครงการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่ จ.ตราด ระบุว่าในวันนี้เรามีตัวอย่างของโรงเรียนที่จัดการศึกษาเพื่อการมีสัมมาชีพที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาทักษะใน 3 กลุ่มอาชีพคือด้านเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และธุรกิจการค้าชายแดน ที่ทำให้มั่นใจว่าจังหวัดตราดสามารถที่จะขับเคลื่อนการศึกษาให้สอดรับกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้
"ตัวอย่างจากทั้ง 10 โรงเรียน สะท้อนความจริงในท้องถิ่นออกมาให้เห็นทิศทางและอนาคตของการจัดการศึกษาของตราดนับจากนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะว่าครูของเราในวันนี้ไม่ได้สอนให้ลูกศิษย์เลียนแบบ แต่สอนให้ลูกศิษย์คิดต่อยอดไปได้เอง เพราะเป้าหมายก็คือทำอย่างไรให้เด็กของเราเมื่อจบการศึกษาแล้วกลับมาอยู่ที่บ้าน มาใช้ความรู้ความสามารถที่มีสร้างอนาคตที่บ้านเกิดของตนเอง สร้างอนาคตจากโอกาสต่างๆ ที่จะเข้ามาของการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและประตูไปสู่เพื่อนบ้าน"
"จังหวัดตราดในวันนี้เป็นต้นแบบที่ดีในการแสดงให้เห็นว่า การเปิดโอกาสให้กับคนในพื้นที่จัดการตัวเองโดยใช้ข้อมูลในพื้นที่เป็นตัวเดินเรื่องนั้น สามารถทำให้ทุกฝ่ายเห็นเป้าหมายที่ตรงกัน และเกิดเป็นกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ๆ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเป้าหมายปลายทางคือลูกหลานของคนตราดได้เป็นอย่างดี และทำให้เราสามารถมองเห็นอนาคตของประเทศได้ เพราะความสำเร็จของการจัดการศึกษาที่แท้จริงก็คือ การทำให้เด็กนักเรียนสามารถค้นหาตัวเองให้เจอให้ได้ มีเป้าหมายชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนสำคัญของการสร้างเถ้าแก่น้อยขึ้นมาในอนาคต และเถ้าแก่น้อยนี่เองเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้าง GDP ของประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น" ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. กล่าวสรุป.