กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ไอแอม พีอาร์
จังหวัดอำนาจเจริญ โดย คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ, สภาการศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ, องค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ และภาคีเครือข่าย โดยการสนับสนุนของ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เดินหน้าขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษา จัดงาน "มหกรรมเพิ่มพูนปัญญา ส่งเสริมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ สู่การปฏิรูปการเรียนรู้เชิงพื้นที่ จังหวัดอำนาจเจริญ" ภายใต้แนวคิด "ร่วมคิด ร่วมทำ หนุนนำ พัฒนาการศึกษาเรียนรู้คนอำนาจเจริญ" นำเสนอผลการดำเนินโครงการการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู หรือ PLC จาก 7 โรงเรียนนำร่อง พร้อมเตรียมขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด
นายนรงฤทธิ์ จันทรเนตร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ และประธานสภาการศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า สสค. ได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ น่าน สุราษฎร์ธานี อำนาจเจริญ และนครราชสีมา จัดทำ โครงการการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู หรือ Professional Learning Community (PLC) ขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายครูและขยายผลการจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ โดยการจัดมหกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่สามารถเพิ่มคุณภาพการศึกษาจำนวน 50 ผลงาน อันเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกับ สสค. และโรงเรียนนำร่องในจังหวัดอำนาจเจริญจำนวน 7 แห่ง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ได้นำเอาผลการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ประกอบไปด้วย 1.พ่อแม่ครูปฐมวัยร่วมใจพัฒนา 2.ผู้นำก้าวหน้าพัฒนาท้องถิ่น 3.สัมมาชีพสร้างคนสร้างงาน 4.การสื่อสารสู่สากล และ 5.ยุวชนวิจัยใส่ใจท้องถิ่น ใน 7 พื้นที่นำร่อง มาร่วมนำเสนอเพื่อให้เกิดการบูรณาองค์ความรู้และการทำงานในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนร่วมกัน
"คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ฯ กำลังยกระดับสภาการศึกษาจังหวัดอำนาจเจริญ ให้มีฐานะเป็นสมาคมโดยเป็นนิติบุคคลที่มีกฎหมายรองรับ เพื่อที่จะขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา กิจกรรม และโครงการต่างๆ เพื่อปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ก็เตรียมจะขยายผลโครงการ PLC และผลงาน 5 กิจกรรมในพื้นที่นำร่อง ออกไปให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด เพราะเป็นโครงการที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพการศึกษาที่เด่นชัด ซึ่งในขณะนี้มีโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ PLC เพิ่มขึ้นอีก 11 โรงเรียนรวมเป็น 19 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนอนุบาลอำนาจเจริญซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีความพร้อม ตรงนี้ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะใช้เป็นศูนย์ในขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดได้ดีขึ้น"
นอกจากนี้ประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดอำนาจเจริญยังมองว่าการเกิดขึ้นของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นั้นเป็นโอกาสที่สำคัญของการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่
"สิ่งที่สำคัญคือตัวของคณะกรรมการ ถ้าได้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่ และมีพื้นฐานเดิมในการทำงานและร่วมกันแก้ปัญหาด้านการศึกษากับคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดอำนาจเจริญมาก่อน ก็จะเกิดประโยชน์กับการศึกษาของจังหวัด และถ้าเปิดโอกาสให้ทางสภาการศึกษาจังหวัดฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในกรรมการชุดนี้ก็จะช่วยให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดอำนาจเจริญเดินหน้าไปได้ดียิ่งขึ้น" นายนรงฤทธิ์ ระบุ