รองผู้ว่าฯ ธารินทร์ มอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติแก่ อปพร. และหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย ประจำปี 2542

ข่าวทั่วไป Tuesday September 26, 2000 09:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--กทม.
ที่ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ เมื่อวานนี้ (25 ก.ย.43) เวลา 11.00 น. ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติบุคคล และหน่วยปฏิบัติงานบรรเทาสาธารณภัยดีเด่น กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2542 โดยมีนายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กทม. นายโชดก วีรธรรมพูลสวัสดิ์ เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ พล.ต.ต.มรว.เจตจันทร์ ประวิตต์ นายกสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย นายแก้ว แห้วสันตติ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพระนคร อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัย และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมในพิธี
ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสวัสดิการสังคม ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ได้จัดทำโครงการเชิดชูเกียรติบุคคลและหน่วยปฏิบัติงานบรรเทาสาธารณภัยดีเด่น กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน สำหรับในปี 2542 เป็นปีที่ 9 ของโครงการฯเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและหน่วยปฏิบัติงานบรรเทาสาธารณภัยดีเด่น และประกาศเกียรติคุณให้ปรากฏแก่สาธารณชนโดยทั่วไป อีกทั้งยังเป็นขวัญกำลังใจ รวมถึงกระตุ้นให้บุคคลและหน่วยงานอื่นยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม โดยได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลและหน่วยปฏิบัติงานบรรเทาสาธารณภัยดีเด่นในพื้นที่เขตต่าง ๆ ซึ่งมีบุคคลและหน่วยงานที่ได้โล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ดังนี้ ประเภทบุคคล จำนวน 44 ราย แบ่งเป็น ด้านปฏิบัติการกู้ภัย จำนวน 29 ราย, ด้านการป้องกัน จำนวน 11 รายและด้านการสงเคราะห์ จำนวน 4 ราย ประเภทหน่วยงาน จำนวน 9 หน่วยงาน แบ่งเป็น ด้านปฏิบัติการกู้ภัย จำนวน 5 หน่วยงาน, ด้านการป้องกัน จำนวน 3 หน่วยงาน และด้านการสงเคราะห์ จำนวน 1 หน่วยงาน นอกจากนี้ยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ นายแก้ว แห้วสันตติ ในฐานะเป็นบุคคลที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมด้านการบรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร เป็นกรณีพิเศษ
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้แทนของชาวกรุงเทพมหานครทุกคน ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ช่วยกันสนับสนุน และปฏิบัติงานด้านบรรเทาสาธารณภัยอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย หรือหวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งในการป้องกัน ด้วยการให้ความรู้แก่ประชาชนได้เข้าใจถึงภยันตราย และการแก้ไขเหตุอัคคีภัยในเบื้องต้นก่อนที่จะลุกลาม ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านการดับเพลิง การกู้ภัยเมื่อเหตุอัคคีภัยนั้นเกินความสามารถที่ประชาชนจะแก้ไขได้ การสนับสนุนอุปกรณ์ดับเพลิง การช่วยเหลือสงเคราะห์แก่ประชาชนที่ประสบความทุกข์ยากจากเหตุภัยพิบัติทั้งหลายนานาประการ หากขาดความร่วมมือร่วมใจจากท่านทั้งหลายคงเป็นไปได้ยากที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีประชาชนอยู่อาศัยมากกว่า 5 ล้านคน จะอยู่ได้ด้วยความสงบสุขเช่นปัจจุบัน
จากสถิติการให้การสงเคราะห์ผู้ประสบภัยในเขตกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเหตุอัคคีภัยที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนความรุนแรงของเหตุการณ์ลดลงเป็นลำดับ กล่าวคือ เคยมีผู้ประสบภัยนับพันครอบครัวในบางพื้นที่เขต แต่ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ยังไม่มีเหตุรุนแรงเท่าในอดีตดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามการหาทางป้องกันการเกิดเหตุสาธารณภัยต่าง ๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่ ดูแลให้เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่เขต และต้องประสานความร่วมมือกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้กรุงเทพมหานครของเราเป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างแท้จริง
นอกจากนี้การดำเนินงานด้านการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย ที่สำนักสวัสดิการสังคมรับผิดชอบดูแลประชาชนในทุกพื้นที่เขตนั้น ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากหน่วยปฏิบัติงานบรรเทาสาธารณภัย ในการให้ข้อมูลรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ช่วยให้ผู้ทุกข์ยากจากสาธารณภัยต่าง ๆ ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่านทั้งหลายในโอกาสต่อ ๆ ไป--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ