กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
ผลงานละครเวทีสุดชิคล่าสุดของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี"SANG WARS" การันตีด้วยเสียงตอบรับบัตรเต็มที่รอบ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวสร้างความฮ่าจนต้องบอกต่อ
ผู้กำกับการแสดงละครเวทีสถาปัตยกรรม มทร.ธัญบุรี "หมอก" นางสาวกรกนก เวชสุวรรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน เล่าว่า ละครเวทีสถาปัตยกรรมศาสตร์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 จุดประสงค์หลักของการทำละครเวทีคณะสถาปัตยกรรม มทร.ธัญบุรี ต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องภายในคณะ เชื่อมด้วยการทำงานที่นำความรู้ที่ได้เรียนมามาใช้ในการทำละครเวที วิชาการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของแสง สี เสียง การทำฉาก การที่ได้มาทำงานร่วมกัน ได้คุยกัน ทำให้รู้จักกันมากขึ้น เป็นกิจกรรมใหญ่ของคณะที่นักศึกษาทุกชั้นปีมีส่วนร่วม โดยในปีนี้แสดงเรื่อง SANG WARS เรื่องราวของการนำละครไทยพื้นบ้านและภาพยนตร์ต่างประเทศมาใช้ในการดำเนินเรื่อง อย่างที่รู้กันดีว่าละครเวทีสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เน้นความสนุกสนาน แต่แฝงไปด้วยข้อคิดสะกิดใจ ผ่านกระบวนการทำงานที่เกิดจากความตั้งใจของทุกคนในคณะ "กิจกรรมทำให้เรามีความผิดชอบ ต้องเรียน ต้องทำงานส่งอาจารย์ ทำผลงานจบ แต่ทุกคนรู้จักการแบ่งเวลามาทำละครเวทีด้วยกัน "
ทางด้าน "ตอง" นายสุรวัฒน์ ราชอุดม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผู้เขียนบท เล่าว่า เป็นโจทย์ที่ยากสำหรับตนเอง เนื่องจากไม่มีความรู้ในการเขียนบท แต่ด้วยส่วนตัวชอบดูหนัง ชอบการแสดงที่ฮ่าๆ บวกกับชอบคิด จึงได้เอาความรู้ที่มีมาเขียนบท โดยความยาวของการแสดงประมาณ 2 ชั่วโมง ละครทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นแนวแฟนตาซี ในปีนี้จึงอยากได้อะไรที่เป็นไทยๆ แต่ยังเน้นในส่วนของความสนุกสนาน ดำเนินด้วยตัวละครหลัก เจ้าเงาะป่า ในเรื่องสังข์ทอง ดาร์เวอร์เดอร์ ในเรื่องสตาร์วอร์ ผูกเรื่องด้วยความแค้น สุดท้ายสอดแทรกข้อคิด "ถ้ายึดติดในเรื่องความแค้นเรื่องราวจะไม่จบ มีแต่จะทำร้ายไม่จบสิ้น" ละครจะดำเนินเรื่องและสร้างความสนุกให้คนดู นอกจากบทแล้วนักแสดงเป็นสิ่งสำคัญ การเข้าถึงบทบาทของนักแสดงจะทำให้ละครสนุกสนาน ละครเวทีทำให้นักศึกษาในคณะได้ผ่อนคลาย ได้แสดงอารมณ์ ทำให้กล้าแสดงออก และได้นำความรู้ที่เรียนมามาใช้ให้เกิดประโยชน์ "อารมณ์ผสมงานสถาปัตย์"
ผู้คัดเลือกนักแสดงและผู้รับบทเจ้าเงาะป่า "แจ๊ค" นายนพพร สลัดทุกข์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เล่าว่า ในการคัดเลือกนักแสดงจะแจกบทให้กับนักแสดงที่เลือก ด้วยที่ตนเองไม่มีประสบการณ์ในการคัดเลือกนักแสดง จึงจะกระจายบทให้กับนักแสดงที่สมัครใจเข้ามาเป็นนักแสดง จะดูความเหมาะสมบทกับตัวนักแสดง เมื่อบทไม่เหมาะจะเปลี่ยนให้นักแสดงคนใหม่ต่อไป ในส่วนของการซ้อมการแสดงเกิดปัญหา เพราะว่า เวลาเรียนไม่ตรงกัน วันไหนที่นักแสดงคนนั้นไม่มา ตัวผู้กำกับต้องเป็นคนต่อบทให้นักแสดง ในส่วนของบทเจ้าเงาะป่าที่ตนเองได้รับ ถือเป็นบทที่ตนเองภาคภูมิใจมาก ท้าท้ายความสามารถของตนเอง ได้แสดงเป็นตัวหลัก
"ชัท" นายชัชนันท์ ชุ่มไชยพฤกษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน ผู้รับบทดาร์เวอร์เดอร์ เล่าว่า ได้ร่วมแสดงในละครเวทีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ในบทหลักของทุกปี และปีนี้ได้รับบทดาร์เวอร์เดอร์ บวกกับตนเองต้องทำผลงานจบ จึงต้องแบ่งเวลาให้เหมาะสม ในส่วนของการแสดงตนเองมีประสบการณ์ของการแสดงละครเวทีมาทุกปี จึงไม่มีปัญหาในส่วนของการแสดง จะพยายามหาเรื่องใกล้ตัว คิดมุขสนุก "ผมว่าการส่งจังหวะของนักแสดงสำคัญ" ละครเวทีถือเป็นกิจกรรมอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้รู้จักกันมากขึ้น รุ่นน้องบางคนตอนอยู่ในคณะเดียวกัน ไม่ได้คุยกัน แต่มาแสดงละครเวทีด้วยกันได้คุยกันทำให้สนิทกันมากขึ้น และละครเวทียังให้ประสบการณ์การแสดงในฐานะนักแสดงเป็นอีกบทบาทหนึ่ง ทำให้ตนเองได้ผ่อนคลายจากการทำโปรเจคจบ
นักแสดงหน้าใหม่ "ศิ" นางสาวศศินา วุฒิธรรมาภรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม เล่าว่า ดีใจที่ได้รับโอกาสจากผู้กำกับให้รับบท "รจนา" มอบโอกาสที่ดีให้กับตนเอง ด้วยบุคลิกของตนเองที่สนุกสนาน และกล้าแสดงออก ทำให้ได้รับความไว้วางใจ ซึ่งตอนซ้อมจะพยายามเข้าใจตัวบทให้มากที่สุด แต่โชคดีที่รจนาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เหมือนกับตัวตนของตนเอง ในการเล่นละครครั้งนี้ ให้ประสบการณ์ ฝึกความอดทน การทำงานร่วมกับคนอื่น และฝึกการเข้าสังคม
การันตีด้วยความสามารถเพราะว่าบัตรเต็มทุกรอบ สร้างความฮ่า ทุกฉาก นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ไม่ได้ออกแบบสร้างบ้านอย่างเดียวนะจ๊ะ แต่มีความสามารถทางการแสดงด้วย