กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง แกนนำชุมชนมองอย่างไรถึงอนาคตประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,075 ตัวอย่างจากจังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi-Stage Sampling) จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการในระหว่างวันที่ 8-16 เมษายน 2559 ผลการสำรวจ พบว่า
เมื่อสอบถามความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนถึงการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าตัวอย่างร้อยละ 61.0 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 26.0 ระบุติดตาม 3-4 วัน ร้อยละ 6.0 ระบุติดตาม 1-2 วัน ร้อยละ 6.5 ติดตามเป็นบางวัน และร้อยละ 0.5 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
ประเด็นสำคัญของการสำรวจในครั้งนี้คือความคิดเห็นของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงที่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ "รัฐบาล-องค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ซึ่งผลการสำรวจเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในแต่ละประเด็นเรียงตามลำดับ พบว่า ในประเด็น "การถูกตรวจสอบได้ของรัฐบาล" นั้นร้อยละ 78.7 คิดว่าดีขึ้น ร้อยละ 15.7 คิดว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 5.6 คิดว่าแย่ลง ประเด็น "การถูกตรวจสอบได้ขององค์กรอิสระ" พบว่า ร้อยละ 77.4 คิดว่าดีขึ้น ร้อยละ 18.0 คิดว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 4.6 คิดว่าแย่ลง ประเด็น "การถูกตรวจสอบได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" พบว่า ร้อยละ 76.7 คิดว่าดีขึ้น ร้อยละ 17.4 คิดว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 5.9 คิดว่าแย่ลง ประเด็น "การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน" พบว่า ร้อยละ 75.9 คิดว่าดีขึ้น ร้อยละ 18.8 คิดว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 5.3 คิดว่าแย่ลง ประเด็น "ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนาประเทศระหว่างรัฐบาล หน่วยงานราชการและองค์กรเอกชนตามแนวทางประชารัฐ" พบว่า ร้อยละ 75.3 คิดว่าดีขึ้น ร้อยละ 19.8 คิดว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 4.9 คิดว่าแย่ลง
และผลการสำรวจยังพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนมากกว่าร้อยละ 70 ยังเห็นว่าประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้น่าจะดีขึ้นภายหลังมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยได้แก่ "รัฐบาลเป็นที่ไว้วางใจได้และเป็นที่พึ่งได้" (ร้อยละ 75.2 ระบุคิดว่าดีขึ้น) "ความโปร่งใสของรัฐบาล" (ร้อยละ 74.3 ระบุคิดว่าดีขึ้น) "ความตื่นตัวและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน" (ร้อยละ 73.8 ระบุคิดว่าดีขึ้น) "ความสามารถในการทราบล่วงหน้าถึงสถานการณ์ทางการเมือง" (ร้อยละ 73.5 ระบุคิดว่าดีขึ้น) "การมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม" (ร้อยละ 72.8 ระบุคิดว่าดีขึ้น) "การเข้าใจ-เข้าถึงหลักกฎหมายของประชาชน" (ร้อยละ 71.7 ระบุคิดว่าดีขึ้น)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงในประเด็น "การร้องเรียนยื่นเรื่องให้ ศาลพิจารณาคดี หรือตำรวจดำเนินคดีทางการเมือง เรื่องการทุจริตคอรัปชั่น และการประพฤติผิดศีลธรรม" นั้นพบว่า ร้อยละ 69.7 คิดว่าดีขึ้น ร้อยละ 24.0 คิดว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 6.3 คิดว่าแย่ลง
สำหรับในประเด็น "การเป็นที่ไว้วางใจและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้" นั้นพบว่า ร้อยละ 66.9 เห็นว่ากรณี "องค์กรอิสระเป็นที่ไว้วางใจได้และเป็นที่พึ่งได้" นั้น น่าจะดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 65.9 เห็นว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นที่ไว้วางใจได้และเป็นที่พึ่งได้" นั้นน่าจะดีขึ้น และยังพบว่าประเด็น "ความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาทิ อบจ./อบต." นั้น พบว่า ร้อยละ 63.9 ระบุน่าจะดีขึ้นด้วย ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงประเด็น "นักการเมืองเป็นที่ไว้วางใจได้และเป็นที่พึ่งได้" ""นั้นพบว่า ร้อยละ 59.0 ระบุคิดว่าน่าจะดีขึ้น
นอกจากนี้ผลการสำรวจยังพบว่าร้อยละ 57.7 ระบุ"การลดปัญหาความยากจน การบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน" น่าจะดีขึ้นภายหลังมีการเลือกตั้ง/จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 29.8 ระบุคิดว่าเหมือนเดิม และร้อยละ 12.5 ระบุคิดว่าน่าจะแย่ลงกว่าเดิม และในประเด็น "ความง่ายในการเข้าพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร"นั้น พบว่า ร้อยละ 56.3 ระบุคิดว่าน่าจะดีขึ้น ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 คือร้อยละ 33.6 คิดว่าน่าจะเหมือนเดิม และร้อยละ 10.1 ระบุคิดว่าน่าจะแย่ลง สำหรับ "การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้" นั้น พบว่า ร้อยละ 53.7 ระบุคิดว่าน่าจะดีขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 37.7 ระบุเหมือนเดิม และร้อยละ 9.3 ระบุคิดว่าแย่ลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความหวัง กับ ความกลัว ต่อเหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคต นั้นกลับพบว่า ส่วนใหญ่คือร้อยละ 83.2 ระบุยังคงมีความหวัง และเลือกที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า ในขณะที่ ร้อยละ 16.8 ระบุรู้สึกกังวลและกลัวต่อเหตุการณ์ข้างหน้าของประเทศไทย โดยให้เหตุผลพอสรุปได้ว่า เป็นเพราะ ไม่คิดว่านักการเมืองจะพึ่งพาได้ ไม่คิดว่านักการเมืองจะเปลี่ยนพฤติกรรม ยังไม่แน่ใจในสถานการณ์ทางการเมือง/ไม่มั่นใจเสถียรภาพทางการเมือง รวมถึง กลัวความขัดแย้งหลังจากการเลือกตั้ง
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 85.1 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 14.9 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 6.9 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 26.8 ระบุอายุ 40-49 ปีและร้อยละ 66.3 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 36.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 43.3 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 4.4 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. และร้อยละ 16.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 65.9 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 15.5 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ18.6 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 15.2ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 16.9ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,001–15,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 26.1ระบุมีรายได้ครอบครัว 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 41.8ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามรายภูมิภาคพบว่าตัวอย่างแกนนำชุมชนร้อยละ 33.9 อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือร้อยละ 25.5 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง ร้อยละ 18.4 ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ร้อยละ 13.7ระบุอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่ร้อยละ 8.5 ระบุอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามลำดับ