กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 4.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 4.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 3.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 55.21เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 4.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 47.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Energy Information Administration (EIA) ประเมินปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ค. 59 จะลดลงจากเดือนก่อน 120,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 4.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการลดลงรายเดือนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3 Rig มาอยู่ที่ 351 Rig เป็นการลดลงต่อเนื่อง 4 สัปดาห์
· Reuters รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากท่าบริเวณตอนใต้ของอิรักเดือน พ.ค. 59 อยู่ที่ 3.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน
· นาย Robert Kaplan ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯสาขา Dallas (FED Dallas) มองว่า FED จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26-27 เม.ย. ที่จะถึงนี้ เนื่องจากทิศทางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจน และคาดว่า FED อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. 59
· สำนักวางแผนและวิเคราะห์ปิโตรเลียมของอินเดีย หรือ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงน้ำมันอินเดีย รายงานอินเดียบริโภคน้ำมันในเดือน มี.ค. 59ปริมาณ 4.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16.4%
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Oil Movement ของอังกฤษรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของ OPEC ช่วง 4 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. 59อยู่ที่ระดับ 24.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ไม่รวม เอกวาดอร์ แองโกลาและอินโดนีเซีย) เพิ่มขึ้น 140,000 บาร์เรลต่อวัน จากช่วง 4 สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค. 59
· สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาส
1/59 อยู่ที่ระดับ 6.7% ต่อปี ลดลงจากไตรมาสก่อน 0.1% ต่อปี อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์เห็นว่าอัตราการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลและเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพมากขึ้น
· กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund (IMF) ประเมินอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก (GDP) ปี 2559 ที่ระดับ 3.2% ลดลงจากการประเมินในเดือน ม.ค. 59 ที่ 3.4% ขณะที่ประเมินGDP ปี 2560 เติบโตที่ระดับ 3.5 % ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน ที่ 3.6%
· EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 536.5 ล้านบาร์เรล
· International Energy Agency (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2559 เติบโตที่ 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อน 640,000 บาร์เรลต่อวัน จากความต้องการใช้น้ำมันของจีน สหรัฐฯ และ ยุโรป ชะลอตัว อนึ่ง IEAเห็นว่าอุปสงค์น้ำมันของอินเดียที่คาดว่าปีนี้จะเติบโต 300,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นปัจจัยหลักหนุนอุปสงค์น้ำมันโลกปี2559
· OPEC ประเมินอุปสงค์น้ำมันดิบโลกปี 2558 เติบโตที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากประมาณการครั้งก่อนในเดือน ก.พ. 59 เพราะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและลาตินอเมริกา
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบลดลงจากการประชุม Production Freeze ของประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่ม OPEC และNon-
OPEC รวม 18 ประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ล้มเหลวไม่บรรลุข้อตกลงใดๆเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เพราะซาอุดีอาระเบียย้ำจุดยืนว่าจะไม่คงปริมาณการผลิตหากปราศจากความร่วมมือจากอิหร่านซึ่งไม่เข้าร่วมประชุม ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านล่าสุดเดือน เม.ย. 59 เพิ่มขึ้น 600,000 บาร์เรลต่อวัน ใกล้ปริมาณการผลิต 1,000,000 บาร์เรลต่อวัน ที่อิหร่านกำหนดเป็นเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มหลังการคว่ำบาตรยุติ อนึ่งการประชุมที่ล้มเหลว สะท้อนการขาดความร่วมมือของกลุ่ม OPEC โดย IEA ระบุว่าอุปทานน้ำมันจะปรับตัวสู่ดุลยภาพ (Re-Balancing) ใน ปี 2560 ส่งผลให้ผู้ค้าเทขายน้ำมันเพราะกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด อย่างไรก็ตามการประท้วงของพนักงานบริษัท KPC ในคูเวตกระทบปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของคูเวต ซึ่งนักวิเคราะห์จาก Energy Aspects เห็นว่าการเจรจามีแนวโน้มยุติลงในเดือนนี้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของคูเวตลดลงทันทีประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งยังทำให้ Supply Disruption จากแหล่งผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกในช่วงที่มีการประท้วงเพิ่มสู่ระดับ 2.77 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงที่สุดในรอบ 2 ปี ด้านเศรษฐกิจนาง Christine Lagarde ผู้อำนวยการ IMF กล่าวระหว่างการประชุมร่วมของ IMF และ World Bank ว่าประเทศสมาชิกควรใช้นโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาทิ อุปสงค์รวมตกต่ำ ผลกระทบจาก Brexit และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ ให้ติดตามการออกกฎหมายของสหรัฐฯที่จะอนุมัติให้สามารถฟ้องรัฐบาลต่างชาติต่อศาลสหรัฐฯ ซึ่งซาอุดีอาระเบียขู่ว่าหากกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ ตนจะขายทรัพย์สินในสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะกฎหมายดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลซาอุดีอาระเบียถูกฟ้องร้องเพราะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 9/11 ทางเทคนิคคาดว่าสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 39-43 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล, WTI เคลื่อนไหวในกรอบ 37-41 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ Dubai เคลื่อนไหวในกรอบ 35-39 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก BMI Research ระบุว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในปี2559ยังคงแข็งแกร่งเพราะผู้บริโภครายใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และอินเดียคงการใช้น้ำมันเบนซินในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน โดยเฉพาะอินเดียที่น่าจับตามองเป็นพิเศษเพราะ PPAC ของกระทรวงน้ำมันอินเดียรายงานปริมาณการบริโภคน้ำมันเบนซินในประเทศปีงบประมาณ 2558 (1 เม.ย. 58 - 31 มี.ค. 59 ) อยู่ที่ระดับ 515,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 15 ปี จากยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ผลิต Compact car รุ่นใหม่ในราคาที่ดึงดูดใจผู้บริโภค ประกอบกับ International Enterprise of Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. 58 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 153,000 บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 14.53 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนให้โควตาส่งออกน้ำมันเบนซินแก่โรงกลั่นของจีน ช่วงไตรมาส 2/2559 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน149% มาอยู่ที่ระดับ 329,000 บาร์เรลต่อวัน และ Reuters รายงานบริษัท JX Holding ผู้ประกอบการโรงกลั่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นปรับกระบวนการกลั่น (Refinery Configuration) ของโรงกลั่น Mizushima (กำลังการกลั่น 250,000 บาร์เรลต่อวัน) จากเดิมที่กลั่นน้ำมันดีเซลเป็นหลักให้กลั่นน้ำมันเบนซินเพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศเริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. 59 โดยเน้นส่งออกไปยัง จีน และออสเตรเลีย อีกทั้งโรงกลั่น Mailiao (กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน) ของไต้หวันมีแผนเปิดดำเนินการหน่วย RFCC No.2 (กำลังการกลั่น 84,000 บาร์เรลต่อวัน) ต้นสัปดาห์นี้ หลังปิดซ่อมบำรุงประจำปีตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. 59 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน PJK International B.V.รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 11.7% มาอยู่ที่ 10.85 ล้านบาร์เรล สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นจาก Reuters รายงานปริมาณซื้อขายน้ำมันดีเซลในตลาดสิงคโปร์ วันที่ 1-14 เม.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าช่วงครึ่งแรกของเดือน มี.ค. 59 ที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Goldman Sachs รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของอินเดียเพิ่มขึ้นจากการผลิตถ่านหินและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และปัจจุบันภาวะภัยแล้งคุกคามพื้นที่การเกษตรหลายส่วนในอินเดีย ทำให้เกษตรกรใช้ปั๊มน้ำเพื่อสูบน้ำเข้าแปลงเพาะปลูกของตน โดย PPAC รายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของอินเดียปีงบประมาณ2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.5% สู่ระดับ 1.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี ในส่วนของปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล IES ของสิงคโปร์รายงานปริมาณสำรอง Middles Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 มี.ค. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 113,000 บาร์เรล อยู่ที่ระดับ 12.38 ล้านบาร์เรล และ PJK International B.V. รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ บริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.3% มาอยู่ที่25.90 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Huizhou ( 235,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท CNOOC ของจีนมีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน เม.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 25,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลสำหรับการประมงของจีนลดลง จากฤดูห้ามจับปลาของจีนที่จะเริ่มในเดือน พ. ค. – ส.ค. 59 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 44-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล