กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๘ เม.ย. ๕๙) เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ นางเสาวนีย์ โขมพัตร โฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โดยตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๔ คน
นางเสาวนีย์ กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งมี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับรายงาน การดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย มาตรการทางบริหารในการป้องกันเจ้าหน้าที่ของรัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙ ซึ่งหากวินิจฉัยเบื้องต้น พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดหรือเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ภายใน ๑๐ วัน และต้องรายงานผลการดำเนินการทางวินัยทุก ๓๐ วัน นับตั้งแต่มีคำสั่งให้สืบสวน สอบสวน เมื่อผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแล้วต้องรายงานภายใน ๑๐ วัน สำหรับการดำเนินคดีทางอาญาก็เช่นเดียวกัน ต้องรายงานทุก ๓๐ วัน ในชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นอัยการ ส่วนชั้นศาลให้รายงานทุก ๖๐ วัน นับแต่วันที่ฟ้องต่อศาล และจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
"ทั้งนี้ การเอาจริงเอาจังของรัฐบาลในการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์นับว่าเป็นความพยายามที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ถึงที่สุด เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง" นางเสาวนีย์ กล่าวในตอนท้าย