กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--NBTC Rights
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 12/2559 วันพุธที่ 20 เม.ย. นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ แผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทั้งนี้ ช่อง 7 ได้แจ้งว่าจะยุติการรับส่งสัญญาณในระบบแอนะล็อกและคืนคลื่นความถี่เมื่อสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกองทัพบกกับ บ.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด สิ้นสุดลงในวันที่ 15 พ.ค. พ.ศ. 2566 พร้อมกันทั่วประเทศ เว้นแต่ในพื้นที่ใดที่ไม่มีผู้รับชมโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกแม้แต่คนเดียว บ.ยินดีจะยุติออกอากาศเป็นรายกรณีไป และ บ.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด มีแผนดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ร่วมกับ บมจ. อสมท.และจะยุติระบบแอนะล็อกในปี 2563 ซึ่งสิทธิและดุลยพินิจเป็นของ บมจ.อสมท.(ในฐานะผู้อนุญาตให้สัมปทาน)แต่เพียงผู้เดียวในการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาหรือยุติการรับส่งสัญญาณ ซึ่งนางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ระยะเวลาการยุติทีวีแอนะล็อกควรจะพร้อมกันในปี 2561โดยเจ้าของช่องสัมปทานแอนะล็อกเดิม ควรให้ความร่วมมือกับรัฐกรณียุติทีวีช่อง 3 ช่อง 7 เพราะทาง กองทัพบก และ ช่อง 9 (อสมท.) เองก็ยินดียุติทีวีแอนะ ล็อกในปี 2561 นั่นหมายความว่าสัญญาณดิจิตอลทีวีต้องทั่วถึงในปี 2561 อยู่แล้ว จึงไม่เห็นเหตุผลที่จะลากยาวไปจนหมดสัญญาสัมปทาน
"อีกทั้ง อสมท. และ กองทัพบก ในฐานะผู้ได้สิทธิ์รับใบอนุญาตโครงข่ายทีวีดิจิตอลแบบไม่ต้องประมูล ก็มีพันธะสัญญาในการต้องยุติทีวีแอนะล็อก และ คืนคลื่นกลับมาให้ กสทช.จัดสรรใหม่ ดังนั้น การขยายเวลายุติคลื่นแอนะล็อก นอกจากส่งผลต่อการแข่งขันที่เสรีเป็นธรรมในระบบใบอนุญาตแล้ว ยังทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการบริหารทรัพยากรคลื่นความถี่เพื่อสาธารณะ" สุภิญญา กล่าว
นอกจากนี้ ในการประชุมเตรียมออก ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง บริการชุมชนที่มีคุณภาพ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นภารกิจตามแผนแม่บทฯที่ล่าช้ามานาน ถ้าร่างฉบับนี้ผ่าน จะได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อไป
วาระอื่นๆ น่าจับตาเพิ่มเติม ได้แก่ วาระพิจารณามาตรการปกครอง เรื่องร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบระยะเวลาการโฆษณาออกอากาศของช่อง 3 วาระการพิจารณาโตแย้งคัดค้านหนังสือสำนักงาน กสทช. และการกำหนดมาตรการทางปกครองกับ บ. ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กรณีนำช่องรายการที่ไม่ได้รับอนุญาตมาออกอากาศ วาระแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการของ บ. ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด และ บ. พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด และ บ.สตาร์ช(ประเทศไทย)จำกัด กรณี บ.ซีทีเอช เคเบิล ทีวี จำกัด แจ้งยุติการให้บริการช่องรายการทางกล่อง PSI และ กล่อง Sun Box วาระ บ. พีเอสไอ บรอดแคสติ้ง จำกัด ได้กำหนดเมนูแนะนำและตั้งค่าเริ่มต้นช่องรายการของกล่องรับสัญญาณ PSI วาระการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การวัดการแพร่ของแปลกปลอมของสถานีทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง(ฉบับที่2) และวาระอื่นๆ ติดตามผลการประชุมทั้งหมดได้วันพรุ่งนี้...