กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--โคลัมบัส ซีอาร์เอ็ม เอเจนซี่
เมื่อเร็วๆ นี้ ณ สติช แอนด์ แฮมเมอร์ อาคารอีอีซี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดงานเปิดตัวโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประจำปี 2559 ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทีมที่ปรึกษา และวิทยากรระดับชั้นนำ จากสาขาหลักในด้านการพัฒนาชุมชน การตลาด และการออกแบบแฟชั่น
นำทีมโดยอาจารย์ ดร.ปรารถนา คงสำราญ และ อาจารย์จิตรา มั่งมา เจ้าของห้องเสื้อจิตรา คลอเซ็ท ประเทศออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านออกแบบแฟชั่นและการตลาด ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ พร้อมด้วยทีมอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ได้แก่ อาจารย์ยอดชาย อิทธิวิบูลย์ ผู้เชี่ยวทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม อาจารย์อุกฤษณ์ วงศ์ทองสาลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชนและออกแบบผลิตภัณฑ์ และอาจารย์บุญยนุช วิทยสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าแฟชั่น
การจัดกิจกรรมนี้เพื่ออบรมความรู้ด้านการสร้างสัมพันธ์ และการเป็นพันธมิตรธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชุนที่ผ่านการคัดเลือกด้านความพร้อมเข้าสู่การพัฒนาเครือข่าย จำนวน 40 ราย เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายต้องติดอาวุธให้แก่ผู้ประกอบการได้เข้าใจกระบวนการทำการตลาดแฟชั่น และเทคนิคการสร้างเครือข่ายได้สำเร็จภายในปี 2559
นายเพทาย ล่อใจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน ประจำปี 2559 ได้กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการนำร่อง (Pilot project) ที่หวังพัฒนาขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยจะปรับสภาพจากการเป็นคู่แข่งไปสู่การพึ่งพาอาศัยระหว่างกันภายในห่วงโซ่อุปทาน เช่นเดียวกับกระแสธุรกิจในโลกที่เกิดขึ้น ตั้งเป้าอย่างน้อยจะต้องเกิดโครงการนำร่อง อย่างน้อย 2 กลุ่มในปี 2559 ก่อนขยายปริมาณในปีถัดไป โดยมีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นหน่วยงานในการดำเนินโครงการ
นายเพทาย ล่อใจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในระยะแรกได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็นโครงการนำร่อง(Pilot Project) ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ จำนวน 40 ราย โดยทั้งหมดได้ผ่านการตัดเลือกด้านความพร้อมในการพัฒนาต่อในหลายด้าน ก่อนเข้ารับการอบรมในโครงการนี้ กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกเป็นกลุ่มที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความพร้อมในการพัฒนาขีดความสามารถ ประกอบด้วย 40 ราย แบ่งเป็น 2 สาขา ได้แก่ 1 สาขาสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม 2. สาขาของที่ระลึก
โดยเริ่มต้นโครงการฯในเขตกรุงเทพ และปริมณฑล ประกอบด้วยกระบวนการการให้ความรู้ การอบรมพัฒนาเทคนิคการสร้างเครือข่าย โดยแต่ละกลุ่มจะประกอบด้วย สมาชิกผู้ประกอบการที่มีสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องเป็นห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งคุณภาพ และการลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนสามารถเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายที่หลากหลายตามสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย
การวัดระดับความสำเร็จของโครงการในปีแรก จากการสร้างองค์ความรู้ด้านแฟชั่น ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศใน AEC และการใช้เทคนิคเครือข่าย เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสามารถแข่งขันได้ในตลาดภายในประเทศได้ โดยโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาในการฝึกอบรมนาน 8 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน 2559
นายเพทาย ล่อใจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กระทรวงอุตสาหกรรม คาดหวังว่า โครงการดังกล่าว จะเป็นโครงการนำร่อง (Pilot project) ก่อนนำโมเดลนี้ไปขยายกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ให้กว้างขวางมากขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากการสร้างศักยภาพในเชิงการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนไทยให้มีความเข้มแข็ง และสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนมั่นคงจากการพึ่งพากันเองภายในกลุ่ม