กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไรต่อ ยุทธศาสตร์ชาติ และแนวคิดของ สมาชิก สปท. กฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วย งานศพ งานแต่ง งานบวช กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น อุดรธานี ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม ชลบุรี นครศรีธรรมราช สงขลา และนราธิวาส จำนวนทั้งสิ้น 6,157 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการช่วงวันที่ 1 – 16 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา พบประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ
ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.2 จำไม่ได้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติมีอะไรบ้าง ในขณะที่ร้อยละ 16.8 ระบุจำได้บ้าง เช่น ความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ ปกป้องสถาบันฯ เพิ่มความสามารถเศรษฐกิจ และรองรับอาเซียน เป็นต้น ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ทุกฐานะทางเศรษฐกิจและทุกภูมิภาคส่วนใหญ่ก็ยังไม่สามารถจำได้ว่า ยุทธศาสตร์ชาติมีอะไรบ้าง เหตุเพราะ มีเยอะเกินขีดความสามารถของคนทั่วไปจะจำได้ รู้กันเฉพาะกลุ่มที่ทำยุทธศาสตร์ ขาดการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และขัดแย้งกันในกรอบยุทธศาสตร์ที่กำหนดขึ้นมา ทำให้เกิดแรงเสียดทานจากสาธารณชนต่อข้อเสนอแนวคิดที่อาจจะดีต่อการปฏิรูปประเทศแต่ขัดแย้งหรือห่างไกลวิถีชีวิตชุมชนและสังคมของประชาชน
สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล จึงสอบถามเรื่องพื้นบ้านในวิถีชีวิตของประชาชนต่อกรณีแนวคิดของ สมาชิก สปท. เกี่ยวกับ กฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วยงานศพ งานแต่ง และงานบวช นั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.3 ไม่เห็นด้วย เพราะแนวคิดออกกฎหมายห้ามนี้ ไม่สอดคล้องกับ วิถีชุมชน วิถีสังคม คนประพฤติปฏิบัติกันมาช้านานในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้าน การให้เงินช่วยงานศพ งานบวช งานแต่งเป็นวิธีการหนึ่งเข้าถึงชาวบ้าน และเป็นงานที่จำเป็นต้องช่วยกันของคนในชุมชน เป็นต้น ในขณะที่ ร้อยละ 41.7 เห็นด้วย
เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า กลุ่มคนที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 46.9 เห็นด้วยกับกฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วย งานศพ งานแต่ง งานบวช มากกว่ากลุ่มคนที่จบการศึกษาปริญญาตรีและต่ำกว่า คือ ร้อยละ 41.5 และร้อยละ 41.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่ของกลุ่มคนทุกระดับการศึกษาคือเกินกว่าครึ่งหนึ่งในทุกกลุ่มไม่เห็นด้วยกับ กฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วยงานศพ งานแต่ง และงานบวช
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ถึงแม้จะจำแนกออกตามพื้นที่ที่ประชาชนพักอาศัยอยู่เป็น พื้นที่ในเขตเทศบาล นอกเขตเทศบาลและในกรุงเทพมหานครเอง ก็ยังพบว่า ส่วนใหญ่ของคนในเขตเทศบาลร้อยละ 59.0 คนนอกเขตเทศบาลร้อยละ 58.6 และคนกรุงเทพมหานครร้อยละ 56.2 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ สมาชิก สปท. กฎหมายห้าม ส.ส.บริจาคเงินช่วยงานศพ งานแต่งและงานบวช ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกออกตามภูมิภาค พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มคนอีสานครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.1 เห็นด้วยกับกฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วยงานศพ งานแต่ง และงานบวช โดยพบว่า กลุ่มคนอีสานกลับเห็นด้วยมากกว่า กลุ่มคนในภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนภาคใต้ กลับมีคนที่เห็นด้วยน้อยที่สุดคือ เพียงร้อยละ 37.0 เท่านั้น โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.0 ไม่เห็นด้วย
ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลมีสัดส่วนของคนที่เห็นด้วยมากที่สุดคือร้อยละ 45.0 ในขณะที่กลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 40.8 ที่เห็นด้วยกับกฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วยงานศพ งานแต่งงาน และงานบวช โดยที่น่าแปลกใจคือ กลุ่มพลังเงียบ หรือกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางมีร้อยละ 40.5 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับกฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วยงานของชาวบ้าน ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.5 ของกลุ่มพลังเงียบไม่เห็นด้วย
และที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มที่นิยมชอบพรรคการเมือง ต่อแนวคิดกฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วยงานศพ งานแต่ง และงานบวช พบว่า กลุ่มคนที่นิยมพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.8 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดกฎหมายห้าม ส.ส. บริจาคเงินช่วยงานศพ งานแต่ง และงานบวช ในลักษณะเดียวกับ กลุ่มคนที่นิยมชอบพรรคเพื่อไทยที่มีอยู่ร้อยละ 60.7 ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดกฎหมายดังกล่าว
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่า หลายๆ ครั้งที่คนคิดกำหนดนโยบายหรือกฎหมายอาจจะห่างไกลวิถีของชุมชนและสังคมฐานรากของประเทศ และผลสำรวจครั้งนี้ก็ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศจำไม่ได้ว่ายุทธศาสตร์ชาติมีอะไรบ้าง เพราะกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังวางกันอยู่นี้เป็นไปในลักษณะของ "อะไรบ้างที่กำลังพยายามจะทำกัน" จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างก็มีรายละเอียดออกมาจำนวนมากจนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเองยังสับสนจำไม่ได้ทั้งหมดจนออกมามากถึง 10 กรอบยุทธศาสตร์และชาวบ้านที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญจะจำได้อย่างไร เพราะ ยุทธศาสตร์ที่ดีควรมุ่งเน้นที่ "ทำไม" และ "อย่างไร" กับสิ่งที่กำลังทำกันอยู่มากกว่า โดยมีคำถาม 3 คำถามคือ 1) สถานการณ์ประเทศและของประชาชนเวลานี้อยู่ตรงไหน 2) ประเทศชาติและประชาชนกำลังจะไปที่ไหน และ 3) ประเทศชาติและประชาชนจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร
ทางออกคือ ต้องวิเคราะห์เหตุปัจจัยแตกประเด็นออกมาให้ได้ว่า มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุใดบ้างและจะร่วมกันทำได้อย่างไร ด้วยการลดกรอบยุทธศาสตร์ที่มีอยู่เยอะมากเวลานี้ลงไปเป็น "แผนเชิงยุทธศาสตร์" สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในแต่ละด้านแทน พร้อมกับดึงภาคประชาชนและชุมชนฐานรากของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อทำให้เกิความรู้สึกเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ที่น่าจะเหลือเพียงแค่หนึ่งเดียว คือ ทำทุกอย่างทุกวิถีทางเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ชาติและของประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทย เท่านี้ก็น่าจะทำให้คนทั้งประเทศจำกันได้มากขึ้นแล้วว่ายุทธศาสตร์หลักของชาติมีอะไรบ้าง
ดร.นพดล กรรณิกา โทร. 062.776.8959 ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อความสุขชุมชน สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล
โทร 02.308.0444 หรือ 02.308.0448 หรือ 02.308.0191
www.superpollthailand.net