กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 27 จังหวัด แยกเป็น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 10 จังหวัด น้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 8 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ จัดทำบัญชีระบบประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมู่บ้าน และชุมชน กรณีไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น รวมถึงสำรวจบ่อบาดาล และกำหนดจุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ที่เหมาะสมและมีน้ำใต้ดินเพียงพอต่อการสนับสนุนการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพืชสวนและไม้ยืนต้นมิให้ได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า หลายพื้นที่ของประเทศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 27 จังหวัด 136 อำเภอ 614 ตำบล 4,911 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 6.55 ของจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน สุรินทร์ ชัยนาท ชลบุรี ขอนแก่น สระบุรี พิจิตร ลำพูน ตรัง และตาก จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บุรีรัมย์ กาญจนบุรี สระแก้ว และจันทบุรี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 8 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ เพชรบุรี อุตรดิตถ์ สตูลนครราชสีมา ตราด กระบี่ และนครศรีธรรมราช อีกทั้งจากการติดตามสถานการณ์น้ำ พบว่า แหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ มีระดับน้ำแห้งขอด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งมีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่าง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดตรวจสอบข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่ จัดทำบัญชีระบบประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมู่บ้าน และชุมชน กรณีที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้ เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ด้วยการลดอัตราการจ่ายน้ำ การปล่อยน้ำเป็นเวลา และการลดแรงดันในการส่งน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอจนสิ้นสุดฤดูแล้ง อีกทั้งให้สำรวจบ่อบาดาล และกำหนดจุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใหม่ที่เหมาะสมและมีน้ำใต้ดินเพียงพอต่อการสนับสนุนการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ พร้อมจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำ เน้นดำเนินการในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ซึ่งไม่มีแหล่งน้ำผิวดินเป็นพิเศษ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพืชสวนและไม้ผลยืนต้น มิให้ได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยทหารแจกจ่ายน้ำแก่ผู้ประสบภัยแล้ง โดยสูบน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าพื้นที่การเกษตร 46,492,629 ลูกบาศก์เมตร สูบน้ำดิบเข้าระบบการผลิตน้ำประปา 6,511,992,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคกว่า 260,862,284 ลิตร ผลิตน้ำดื่มแจกจ่ายกว่า 1,104,000 ลิตร สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ศูนย์ฯ เขต สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขา 30 สาขาใน 16 จังหวัด หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th