กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ประจำเดือนมีนาคม 2559 จำนวน 1,202 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 29.0,34.9 และ 36.1 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 38.7,13.6,16.0,10.7 และ 21.0 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.5 และ 19.5 ตามลำดับ ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 86.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากปรับตัวลดลงติดต่อกัน 2 เดือน ปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาครัฐเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัสดุก่อสร้างมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันในเดือนมีนาคม มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการขายในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น อีกทั้งผู้ประกอบการได้เร่งการผลิตสินค้าเพื่อรองรับวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่อย่างไรก็ตามค่าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับกว่า 100 สะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังมีความกังวลต่อ ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง การระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศ ขณะที่ต้นทุนประกอบการปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งความกังวลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกจากการแข็งค่าของเงินบาท
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนมีนาคม 2559 จากการสำรวจพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 76.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 77.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร,อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมเซรามิก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.8 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 96.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 87.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 84.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์,อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์,อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 99.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น, อุตสาหกรรมอลูมิเนียม, อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับอยู่ที่ระดับ 99.4 ลดลงจากระดับ 104.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมีนาคม 2559 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 93.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก (มียอดคำสั่งซื้อสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น จากสินค้าประเภทถุงพลาสติก หลอด และบรรจุภัณฑ์ (Packaging) เนื่องจากลูกค้ามีการสต๊อกสินค้าไว้ช่วงวันหยุดต่อเนื่องในเดือนเมษายน ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์พลาสติก พลาสติกคอมพาวด์ และแผ่นพลาสติก มียอดการส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมอาหาร(ผลิตภัณฑ์น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ความต้องการเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง ไก่สด ผักผลไม้สด/แช่แข็ง ขิงดอง มีการส่งออกไปญี่ปุ่น และตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากการขยายตลาดไปยังโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียม ขณะที่การส่งออกมีคำสั่งซื้อจากตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการออกแบบได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมรองเท้า (สินค้าประเภทรองเท้าแตะ และส่วนประกอบของรองเท้ากีฬา มียอดการส่งออกไปตลาดเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรป ลดลงเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่รองเท้าแฟชั่น รองเท้ากีฬา มียอดขายในประเทศลดลง) อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.5 ลดลงจากระดับ 103.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 77.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 82.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ หัตถอุตสาหกรรม (ยอดการส่งออก ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าทอมือ ผ้าลูกไม้ ผ้าบาติก ลดลงเนื่องจากประเทศคู่ค้า เช่น จีนชะลอการสั่งซื้อ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ OTOP เช่น ผ้าผันคอ กระเป๋าผ้า ของที่ระลึกต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง)อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเส้นใยเรยอน เส้นด้าย ผ้ายืด มียอดการส่งออกลดลงจากตลาดเอเชีย ยุโรปและตะวันออกกลาง ผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าดิบ เส้นด้ายมีการยอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง)อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีการส่งออกไปตลาดอาเซียนลดลง เนื่องจากประเทศคู่แข่งทั้งอินโดนีเซียและจีนมีต้นทุนต่ำกว่า ทำให้สินค้ามีราคาต่ำกว่าสินค้าของไทย) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์หินผสมแอสฟัลต์ หินคลุก หินลูกรัง หินโรยทางรถไฟ มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.2 ลดลงจากระดับ 97.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 77.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 79.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ซึ่งอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก(ยอดสั่งซื้อเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น จาน ชาม และถ้วยเซรามิก ลดลงจากตลาดอาเซียน ขณะที่ยอดขายสุขภัณฑ์ และกระเบื้องปูพื้นมียอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร อะไหล่รถขุด รถลาก มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง ประกอบกับลูกค้ามีการชะลอการสั่งซื้อเนื่องจากยังมีสินค้าในสต๊อกจำนวนมาก) อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษคราฟท์มียอดคำสั่งซื้อจากตลาดสหรัฐฯ จีนและยุโรป ลดลง ขณะที่กระดาษจากเยื่อไม้ไผ่ ทิชชูและกระดาษสา มียอดส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯส่งผลด้านบวก ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ด้านการการส่งออกเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน และอาเซียน ขณะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ธุรกิจน้ำตาล มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 92.6 ลดลงจากระดับ 93.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 94.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรม ปิโตรเคมี (ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ราคาเม็ดพลาสติกปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ปิโตรเคมี เช่น โพลิเมอร์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากอุตสาหกรรมพลาสติก/เคมี ) อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง และรถปิกอัพ มียอดขายเพิ่มขึ้นจากงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ 2016 เนื่องจากผู้ประกอบการจัดโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้สามารถตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้ง่ายขึ้น) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ผลิตภัณฑ์ประเภทล้อแม็กซ์ มีการส่งออกไปประเทศเยอรมัน และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น ขณะที่ชิ้นส่วนและอะไหล่ทดแทน มีการส่งออกไปอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศ CLMV เพิ่มขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์ช่วงล่างรถบรรทุก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่มีค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน (ผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เช่น แผงโซลาเซลล์ มียอดขายลดลงประกอบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.3 ลดลงเล็กน้อยจาก ระดับ 99.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 84.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ถุงยางอนามัย ถุงมือยาง ถุงมือแพทย์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีนและเวียดนาม ขณะที่ยางแผ่นรมควัน ยางแอสฟัลต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์แปรรูปยางเพื่อภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้างเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมียอดสั่งซื้อจากประเทศมาเลเชียเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลปาล์มดิบมีราคาเพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง) อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา มีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น จากกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของจีนที่มีแนวโน้มการนำเข้าไม้ยางพาราจากประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากไม้ยางพาราแปรรูปของไทยมีคุณภาพและทนทาน) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.6 ลดลงจากระดับ 99.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 85.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.9 ในเดือนกุมภาพันธ์องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร,อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.5ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 90.8 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 91.0 ในเดือนกุมภาพันธ์องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง, อุตสาหกรรมรองเท้า เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 91.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 98.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดำเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2559 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือน มีนาคม คือเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบลงทุนในโครงการที่รัฐบาลได้อนุมัติไปแล้ว รวมถึงเร่งเจรจาการค้ากับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อขยายตลาด ลดอุปสรรคทางการค้าและมาตรการกีดกันสินค้าที่มิใช่ภาษี อีกทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนขยายกิจการในต่างประเทศ เพื่อใช้สิทธิพิเศษทางการค้าต่างๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้สินค้าภายในประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และป้องกันสินค้าด้อยคุณภาพ เข้ามาในประเทศ และเร่งดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน