กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--อมตะ ซิตี้
อมตะซิตี้ จับมือจัดหางานจังหวัดระยอง จัดงาน "นัดพบแรงงานจังหวัดระยอง" 2559 รวมผู้ประกอบการโรงงาน 75 แห่งเปิดบู๊ธรับสมัครงานตรงพร้อมตำแหน่งงานว่างกว่า 4,800 อัตรา จากหลายอุตสาหกรรม มีผู้สนใจแห่เข้าร่วมหางานคึกคักกว่า 3,000 คน ได้รับการบรรจุเข้าทำงานทันที 1,350 คน ชี้นิคมอุตสาหกรรมอมตะเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่สามารถรองรับแรงงานได้เพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ซิตี้ จำกัด เปิดเผยว่า นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ร่วมกับจังหวัดระยอง และกระทรวงแรงงาน โดยจัดหางานจังหวัดระยอง จัดงานนัดพบแรงงานจังหวัดระยอง ประจำปี 2559 ขึ้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการพิเศษที่ภาคเอกชนและภาครัฐร่วมมือกันให้นายจ้างและผู้ต้องการหางานมีโอกาสพบปะกันโดยตรงครั้งละมากๆ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมฯ โดยมีการรวบรวมตำแหน่งงานว่างกว่า 4,800 อัตรา จากสถานประกอบการจำนวน 75 แห่งมาเปิดรับสมัครงาม ได้รับความสนใจจากผู้ใช้แรงงานมาร่วมสมัครงานเป็นจำนวนมาก รวมกว่า 3,000 คน โดยคาดว่ามีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงานทันทีจำนวนถึง 1,350 คน แบ่งเป็นชาย 511 คน หญิง 839 คน
จากการสำรวจข้อมูลพบว่าความต้องการแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้พบว่า มีความต้องการแรงงานหญิง จำนวน 1,095 อัตรา แรงงานชายจำนวน 1,550 อัตรา และไม่ระบุเพศอีกจำนวน 2,155 อัตรา จำแนกตามวุฒการศึกษาระดับประถมศึกษาจำนวน 545 อัตรา ระดับมัธยมศึกษาจำนวน 1,205 อัตรา ระดับอาชีวศึกษา/อนุปริญญาจำนวน 1,500 อัตรา ระดับอุดมศึกษาจำนวน 1,400 อัตรา และไม่จำกัดวุฒิการศึกษาอีกจำนวน 150 อัตรา ซึ่งการจัดงานนัดพบแรงงานที่ผ่านมานับว่าประสบความสำเร็จเนื่องจากนายจ้าง และผู้สมัครงานมีความต้องการที่สอดคล้องกัน โดยตำแหน่งงานที่มีความต้องการและมีผู้สมัครงานสูงสุดคือ พนักงานฝ่ายผลิต ช่างเทคนิค ช่างซ่อมบำรุง ช่างไฟฟ้า ธุรการ ฝ่ายบุคคล ฝ่ายจัดซื้อ คลังสินค้า พนักงานควบคุมคุณภาพสินค้า(Quality Control : QC) พนักงานตรวจสอบคุณภาพสินค้า(Quality Assurance :QA) วิศวกร พนักงานขาย และพนักงานขับรถ เป็นต้น
"ด้วยศักยภาพการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่องของนิคมอุตสาหกรรมอมตะในขณะนี้ เชื่อว่านิคมอุตสาหกรรมอมตะทั้ง 2 แห่ง ได้แก่ อมตะซิตี้ จ.ระยอง และอมตะนคร จ.ชลบุรี มีความสามารถในการรองรับแรงงานสำหรับภาคการผลิตได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งตำแหน่งงานว่างส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิค เป็นต้น" นายวิบูลย์ กล่าว
นอกจากนี้อมตะยังได้มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีแผนพัฒนาการบริหารจัดการเพื่อรองรับด้านแรงงานฝีมือให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมฯ อมตะ โดยความร่วมมือกับกรมอาชีวศึกษาจัดหลักสูตรการฝึกงานระยะยาว รวมถึงการพยายามผลักดันให้เกิดศูนย์วิจัยเพื่อวิเคราะห์ วิจัย เชื่อมโยงงานวิจัยเพื่อคิดค้นพัฒนาผลงานหรือผลผลิตของแต่ละบริษัท หรือแม้กระทั่งการสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้วิทยาศาสตร์ใกล้ชิดอุตสาหกรรม เพื่อการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน