กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมโรงงานอุตสาหกรรม โชว์ผลงานโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน นำร่องดึง 10 โรงงานในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ลดการใช้สารทำความเย็น HCFC-22 เป็นสารทำความเย็นชนิดใหม่ HFC-32 เพื่อลดการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวคาดว่าจะลดการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้กว่า 46 โอดีพีตันต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 1,116,333 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ อย่างไรก็ตามจากนโยบายของรัฐบาลมีเป้าหมายให้ประเทศไทยลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ภายในปี 2573 สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ 0-2202-4228 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th และสายด่วน กรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564
นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมมือกับธนาคารโลกจัดทำแผนการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (Thailand HCFC Phase-out Project : HPMP) โดยมีเป้าหมายการดำเนินงานลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ในประเทศไทยภายในปี 2573 โดยที่ผ่านมาได้มอบหมายให้กรมโรงงานฯ จัดทำแผนดำเนินงานโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคโนโลยี ผ่านโครงการต่างๆ อีกทั้ง มีมาตรการด้านการเผยแพร่ความรู้ประชาสัมพันธ์ ด้วยการดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด
ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ร่วมมือกับธนาคารออมสิน ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ระยะที่ 1 โดยธนาคารออมสินมีบทบาทในการเป็นผู้บริหารเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออลผ่านธนาคารโลก ซึ่งได้มีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการดังกล่าว รวม 10 ราย ได้แก่ 1.บริษัท บิ กริมม์ แอร์คอนดิชันนิ่ง จำกัด 2.บริษัท บิสไวท์ (ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท อิมิแนนท์แอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 4.บริษัท พีพีเจ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 5.บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 6.บริษัท ทรัพย์สุขศิริ จำกัด 7.บริษัท สุปรีม ซี เอ็น บี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 8.บริษัท ทรัพย์ทองห่อ จำกัด 9.บริษัท ยูนิโก้ คอนซูมเมอร์ จำกัด 10.บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมดังกล่าวได้ใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC-32) ทดแทน คาดว่าจะลดการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้กว่า 46 โอดีพีตันต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 1,116,333 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ซัยโจ เด็นกิ ได้รับเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงินกว่า 38 ล้านบาท เพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้ในกระบวนการผลิต และอุปกรณ์ความปลอดภัยสำหรับสายการผลิตที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง การปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นจากเดิมใช้สาร HCFC-22 เปลี่ยนเป็นสารทดแทน HFC-32 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถลดการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนได้กว่า 6 โอดีพีตันต่อปี รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 140,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และเริ่มทำการผลิตเครื่องปรับอากาศที่ใช้สาร HFC-32 เป็นสารทำความเย็น โดยได้พัฒนาปรับปรุงคอมเพรสเซอร์ และผลิตเครื่องปรับอากาศขนาด 9,000 – 25,000 บีทียู ในรุ่น Fixed Speed และ Inverter เพื่อรองรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศ HFC-32 เพื่อออกสู่ตลาดในประเทศไทย และส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ลาว เป็นที่เรียบร้อย และกำลังเตรียมส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในเร็วๆ นี้ จึงเป็นตัวอย่าง และกรณีศึกษาที่ดีของการพัฒนาเทคโนโลยีโดยบริษัทคนไทย ในการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจประเทศตามนโยบายภาครัฐ
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับโครงการลดและเลิกใช้สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักสนธิสัญญาและยุทธศาสตร์ 0-2202-4228 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th และสายด่วน กรมโรงงานอุตสาหกรรม 1564