กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เครือข่ายรัฐ-เอกชน ร่วมเปิดใจ หาทางแก้ไขปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ พร้อมแชร์แนวคิด Operation Creative เพื่อรัฐ-เอกชนร่วมมือกันคุ้มครองอุตสาหกรรมกลุ่มที่เป็นเจ้าของความคิดสร้างสรรค์อย่างดิจิทัลคอนเทนต์
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที ร่วมกับ สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (MPA) เปิดเวที Open Forum ในหัวข้อ "Operation Creative for Thailand ร่วมด้วยช่วยกัน...เว็บไซต์ปลอดภัย" โดยได้รับเกียรติจาก Dr.Michael Kwan อดีตผู้บัญชาการ Digital Forensics Lab ของศุลกากรฮ่องกง และอดีตผู้บัญชาการการสอบสวนด้านทรัพย์สินทางปัญญาของกรมศุลกากรฮ่องกง บรรยายสรุปเรื่อง ผลกระทบของการโฆษณาความเสี่ยงสูงที่มีผลต่อสังคมไทย สถานการณ์ปัจจุบันเกี่ยวกับเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ และตัวอย่างแนวทาง Operation Creative ในต่างประเทศ และช่วงสนทนา ได้รับเกียรติจาก วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พ.ต.อ.เถลิง พิษณุวงษ์ ผู้กำกับการสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ดร.ขจิต สุขุม ผู้อำนวยการสำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และ พิเศษ จียาศักดิ์ ผู้ชำนาญการ สำนักกฎหมาย ETDA โดยมี อุมาศิริ ทาร่อน รองผู้อำนวยการ MPA ดำเนินรายการ
Dr. Michael กล่าวว่า ทุกวันนี้ โฆษณาออนไลน์ปรากฏหลายรูปแบบและซับซ้อนขึ้น โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โฆษณาสินค้าถูกกฎหมาย (Mainstream ads) และโฆษณาสิ่งที่ผิดกฎหมาย (High-risk ads) เช่น สิ่งลามกอนาจร การพนันออนไลน์ แอนติไวรัสปลอม ฯลฯ ซึ่ง High-risk ads มักแฝงมากับเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย เช่น เว็บไซต์ดูหนังออนไลน์ (Movie Streaming) หรือเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งหากเด็กและเยาวชนไปคลิกดูโฆษณาที่แฝงมาก็อาจส่งผลกระทบร้ายแรงได้ โดยจากการสังเกตโฆษณาบนเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย พบว่ามีโฆษณาแบบ Mainstream เพียง 6% ที่เหลือเป็นพวก High-risk โดยกว่า 60% มีเนื้อหาลามก และกว่า 10% เป็นการพนันออนไลน์ ในต่างประเทศ แนวทางหนึ่งในการแก้ไขคือ ใช้ความร่วมมือ อย่างในสหรัฐอเมริกา เรียกว่า 'TAG' เป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนด้วยกันเอง มีการรวมเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเข้าไปดูรายชื่อได้ ส่วนในสหราชอาณาจักร เรียกว่า 'Operation Creative' และ 'IWL' (Infringing Website List) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ได้แก่ ผู้บังคับใช้กฎหมาย กับผู้ประกอบการ โดยใช้การตัดรายได้ของเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย การทำงานของ ปอท. จะเน้นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ฯ เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่องลามกอนาจารต่าง ๆ ทาง ปอท. จะถือปฏิบัติตามหลักกฎหมาย มาตรา 20 เป็นผู้แจ้งให้กับกระทรวงไอซีที ปิดเว็บไซต์นั้น ๆ ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์เป็น พ.ร.บ.อีกฉบับ ซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ปอศ. ซึ่งมีอยู่หลายเคสที่ทาง ปอท. เป็นผู้สนับสนุนข้อมูลเพื่อการเข้าจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
พ.ต.อ.เถลิง จาก ปอศ. เสริมว่า การจับกุมผู้กระทำผิดการละเมิดลิขสิทธิ์ทางเว็บไซต์ มีปัญหาตั้งแต่เริ่มแรกคือ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรู้ด้านกฎหมาย แต่ก็ขาดความชำนาญด้านเทคโนโลยีที่จะใช้ในการแกะร่องรอยผู้กระทำผิด จึงทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้กระทำผิดอยู่ที่ใด หรือบางครั้งพบแล้วว่าผู้กระทำผิดมีเซิร์ฟเวอร์ติดตั้งอยู่ต่างประเทศ กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่ และต้องมีพนักงานอัยการเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนหรือไม่ ต่อมาคือ ปัญหาของการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาล เดิมเป็นการสรุปสำนวนและส่งต่อศาลในรูปแบบกระดาษ แต่ปัจจุบันการสรุปสำนวนในรูปแบบกระดาษถือว่ายังไม่เพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ทาง ปอศ. ยังต้องพบอยู่เสมอ
ดร.ขจิต กล่าวในมุมของผู้ถือกฎหมายแต่ไม่ใช่ผู้บังคับใช้ ว่าล่าสุดในปี 2558 กฎหมายเพิ่มเติมในส่วนของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ก็ดูแลในเรื่องการคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์ที่อยู่บนสื่อออนไลน์ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ผลงานลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะอยู่บนสื่อไหนก็ได้รับความคุ้มครองจากฎหมายนี้อยู่แล้ว เพราะได้มีการระบุไว้ว่า ห้ามทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ ต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตาม แต่ปัญหาคือ การเผยแพร่ทางสื่อนี้ยากต่อการแกะรอยไปยังต้นตอของผู้กระทำผิด ไม่รู้ว่าเป็นคนใดและอยู่ในประเทศใด โดยเฉพาะในเรื่องของการตามจับข้ามเขตราชอาณาจักร เช่น การนำภาพยนต์ต่างประเทศมาฉายหรือใช้โดยละเมิดลิขสิทธิ์ในไทย ซึ่งหากจะมีการจับกุมไปดำเนินคดีในต่างประเทศต้องมีการประสานงานหลายขั้นตอนและกระบวนการ เจ้าหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงต้องไล่ตามเทคโนโลยีให้ทัน และเข้าไปประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องของการตรวจจับและรับฟังความเห็นว่าต้องมีการไปตามจับตรงไหน หากเกิดกรณีการละเมิดลิขสิทธิ์ในบางครั้ง ทางกรมฯ ก็ยังมีช่องทางกฎหมายให้ดำเนินการกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้โดยเร่งด่วนเป็นการชั่วคราว เช่น ใครพบเว็บไซต์ที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของตนเอง ก็สามารถส่งข้อมูลกับทางศาลเพื่อขอให้ศาลสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์นั้น ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะดำเนินการฟ้องดำเนินคดีตามกระบวนการกฎหมายต่อไป
พิเศษ กล่าวถึงบทบาทของ ETDA ในการส่งเสริมสภาพตลาดที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกรรมออนไลน์ รวมถึง การทำอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่ใช่แค่การซื้อของที่จับต้องได้ หมายรวมถึงดิจิทัลคอนเทนต์ด้วย โดย ETDA ยังต้องการให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเสมอภาค จึงต้องมีกรอบในการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งยังมีบางเรื่องที่กฎหมายยังตามไม่ทัน ETDA จึงได้เข้ามามีบทบาทเป็นคนกลางในการระดมผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย อย่างเวทีพูดคุยวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการหาทางออกร่วมกัน เพื่อคุ้มครองผลงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย และสามารถเสริมสร้างให้สินค้าในกลุ่มที่เป็นดิจิทัลคอนเทนต์เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน วีระศักดิ์ ได้แชร์ประสบการณ์ว่า สมาพันธ์ฯ ได้ระดมทุนจัดตั้งกองทุนปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ภาคเอกชนดูแลกันเอง โดยหาทีมที่มีประสบการณ์แกะรอยผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนต์ต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ แต่สุดท้ายกฎหมายไทยก็ไม่สามารถเอื้อมออกไปนอกราชอาณาจักรไทยได้โดยตรง ซึ่งจะทำได้เพียงแค่ส่งจดหมายเตือนไปยังผู้ปล่อยที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการตอบสนองยินยอมนำภาพยนต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ๆ ลงจากเว็บไซต์ในระดับหนึ่ง แต่หากมีจดหมายตักเตือนแล้วยังไม่ยอมหยุดการเผยแพร่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมีผลประโยชน์เรื่องรายได้จากการเก็บค่าโฆษณา ทางสมาพันธ์ฯ จะเป็นผู้ไปดำเนินการแจ้งความพร้อมหารือแนวทางการจัดการกับตัวผู้ละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ๆ กับทาง ปอศ. อีกครั้ง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพอมาศึกษาในทางคดีจะพบว่ายังไม่เคยมีการพิจารณาในชั้นศาลในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ว่าควรจะมีขั้นตอนและรูปแบบเป็นอย่างไร ดังนั้นเพื่อให้คดีไปต่อได้ ทางสมาพันธ์ฯ จะมีการตกลงกับผู้ประกอบการในสมาพันธ์ว่าจะไม่มีการยอมความ ต้องเดินหน้าให้เกิดคดีตัวอย่างของการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ให้ได้
ข้อเสนอแนะในการป้องกันการถูกล่วงละเมิดทางลิขสิทธิ์ ที่ วีระศักดิ์ ได้สรุปทิ้งท้ายไว้มีอยู่ 5 ข้อ คือ (1) ระดมทุนจ้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญมาแกะรอยผู้ละเมิดลิขสิทธ์จากทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีการเผยแพร่แบบผิดกฎหมาย (2) หน่วยงานของรัฐ ควรมีการสร้างเครื่องมือหรือเว็บไซต์กลางในการแชร์ข้อมูลของการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์เพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชนได้รับทราบว่าเว็บไซต์หรือแหล่งข้อมูลใดกำลังมีการทำผิดกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ (3) ควรมีการพัฒนาร่างกฎหมายให้รองรับกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ (4) มีการจัดการ Site Blocking หรือการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ (5) การสร้างและรักษาชุมชนให้เกิดการตื่นรู้ในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ โดยมีคนกลางในการระดมผู้เกี่ยวข้องมาหาแนวทางร่วมกันและสร้างความเข้าใจต่อข้อจำกัดของการดำเนินงานในแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้เป็นไปทิศทางเดียวกันบนข้อตกลงร่วมกัน