กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้มีความร่วมมือกับ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท.ในการวิจัยและพัฒนา "กรรมวิธีการผลิตเอนไซม์เชิงซ้อนที่ย่อยสลายชีวมวลจากวัสดุเหลือจากทางการเกษตร" ซึ่งได้รับการจดอนุสิทธิบัตรร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ รศ.ดร.กนก รัตนะกนกชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวเคมี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มจธ. กล่าวในฐานะผู้ร่วมพัฒนางานวิจัยนี้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นกรรมวิธีการผลิตเอนไซม์เชิงซ้อนจากเชื้อแบคทีเรียที่เจริญเติบโตในสภาวะมีออกซิเจน ซึ่งเอนไซม์ที่ได้มีคุณสมบัติต่างจากที่วางขายในท้องตลาด และผ่านการทดสอบคุณภาพแล้วว่าดีกว่าแน่นอน
"โดยปกติการผลิตเอนไซม์เชิงซ้อนมักผลิตได้จากแบคทีเรียสายพันธุ์ที่เจริญเติบโตในสภาวะไม่ใช้ออกซิเจน แต่งานวิจัยของเราสามารถผลิตเอนไซม์เชิงซ้อนจากแบคทีเรียในสภาวะที่ใช้ออกซิเจนในอาหารทั่วไปที่มีราคาถูกและเพาะเลี้ยงได้ง่าย โดยใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตรและเกลือแร่เป็นแหล่งอาหารเพาะเลี้ยงในสภาวะปกติ เหมาะกับระบบอุตสาหกรรมที่ผลิตในปริมาณมาก นอกจากนี้เอนไซม์จากแบคทีเรียมีคุณสมบัติในการย่อยพอลิแซ็กคาไรด์ในชีวมวลได้ดีกว่าเอนไซม์ที่มีขายในท้องตลาด"
รศ.ดร.กนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเอนไซม์ที่ได้จากกรรมวิธีที่พัฒนาขึ้นนี้ ทางสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. จะนำไปใช้ประโยชน์ในการย่อยสลายชีวมวลต่างๆ หรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ฟางข้าว เปลือกข้าวโพด ซังข้าวโพด หรือกากมันสำปะหลัง ให้กลายเป็นน้ำตาลและนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเอทานอล เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือสารมูลค่าเพิ่มชนิดอื่นๆ ในเชิงพาณิชย์ต่อไป
"เอนไซม์เชิงซ้อนของเรามีคุณสมบัติการย่อยที่ดีกว่าเอนไซม์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด และย่อยได้โดยไม่ต้องผ่านการปรับสภาพก่อน ทำให้สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและลดมลพิษที่เกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้าเอนไซม์จากต่างประเทศมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆเป็นจำนวนเงินหลายพันล้านบาทต่อปี จากผลงานวิจัยที่ได้จดสิทธิบัตรร่วมกันระหว่าง มจธ. กับ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. นี้ ทาง ปตท. จะนำเอนไซม์เชิงซ้อนที่ได้ไปต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ต่อไป"
อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของ มจธ. ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้วงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของประเทศก้าวไปอีกขั้น