สมาคมธนาคารไทยประเมินธุรกิจแบงก์ปี ๒๕๔๔ แข่งขันเดือด

ข่าวทั่วไป Wednesday December 6, 2000 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--สมาคมธนาคารไทย
นายจุลกร สิงหโกวินท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงแนวโน้มการดำ เนินธุรกิจสถาบันการเงินในปี ๒๕๔๔ ว่า จะมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทุกธนาคารต้องเหนื่อยกับการทำงานหนัก และยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีแอลต่อไป อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลในระบบตอนนี้รวมทั้งหนี้ที่โอนไปเอเอ็มซี มีกว่าร้อยละ ๓๐
“ในปีหน้าเชื่อว่าเอ็นพีแอลทั้งระบบจะลดเหลือร้อยละ ๑๐ ภายใต้แนวทางที่ต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลส่วนที่เหลือนั้นรับว่าแก้ไขยากและ คงต้องพึ่งกระบวนการของศาลเป็นส่วนใหญ่” นายจุลกรกล่าว
ส่วนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อนั้น ธนาคารคงขยายสินเชื่อได้เพียงเล็กน้อย เพราะสินเชื่อทั้งระบบปี ๒๕๔๓ ทรงตัว กล่าวได้ว่าแทบไม่ขยายตัว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในครึ่งปีแรกคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจยังไม่ปรับตัวดีขึ้น
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของธนาคารยังคงเน้นการแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลและการปรับปรุงองค์กรเพื่อรองรับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ เน้นการให้บริการและลดต้นทุนให้มากที่สุด แต่ต้องไม่ละเลยโอกาสในการทำธรกิจ หรือประสานการทำงานกันมากขึ้น ซึ่งการที่ธนาคารต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพราะธนาคารต่างชาติได้เข้ามาร่วมทุนกับธนาคารไทยและปรับตัวอย่างรวดเร็วมาก ทำให้มีธนาคารลูกครึ่งและพร้อมที่จะแข่งขัน หากธนาคารพาณิชย์ไทยรายใดมีความเชื่อว่าจะสามารถดูแลลูกค้าตัวเองได้ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องเสียเปรียบได้เปรียบ
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์มีความสัมพันธ์กับลูกค้าดีและลูกค้ายังเลือกใช้บริการของธนาคาร โดยธนาคารยังมุ่งเน้นการทำธุรกิจรายย่อยและลูกค้าองค์กร เพราะธนาคารมีฐานลูกค้าค่อนข้างมาก ซึ่งธนาคารต้องดูแลให้กว้างขึ้นและผู้ถือหุ้นเองก็มีความเข้มแข้ง ทำให้ธนาคารมั่นใจว่าจะสามารถแข่งขันได้ ส่วนระบบเทคโนโลยีนั้นสามารถสั่งซื้อเข้ามาได้ เชื่อว่าต้นทุนธนาคารไม่แพงกว่าธนาคารต่างชาติ
นายพงศธร ศิริโยธิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารเน้นการให้สินเชื่อใหม่ การบริหารความเสี่ยง และการรักษาสินเชื่อดีไม่ให้เป็นเอ็นพีแอล อย่างไรก็ตาม ยังเป็นห่วงเรื่องคุณภาพสินเชื่อจะเป็นเอ็นพีแอลรอบ ๒ และอาจมีวิกฤติใหม่ ลูกหนี้ที่ปรับหนี้ไปแล้วมีสภาพไม่แข็งแรงพร้อมที่จะกลับเป็นเอ็นพีแอลรอบใหม่--จบ--
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ