กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. และ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ได้เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ สรุปได้ดังนี้
1. ความคืบหน้าการดำเนินการของคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
คนร. รับทราบการชี้แจงประเด็นที่เป็นข้อกังวลของสาธารณะเกี่ยวกับการจัดทำพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. .... ที่มีการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ อาทิเช่น ระบบการกำกับดูแลที่ดีที่มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ความเชื่อมโยงในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทฯ ดำเนินการปรับปรุง ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ชัดเจนในเรื่องความรับผิดชอบของคณะกรรมการบรรษัทฯ การสร้างความสมดุลของรัฐ ผู้ถือหุ้นและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเห็นควรให้มีการสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยการจัดทำกฎหมายในครั้งนี้ ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด แต่จะเป็นร่างกฎหมายที่สร้างความสมดุลในการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
2. ผลการพิจารณาการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ
2.1 บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท
คนร. ได้มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินการในอนาคตของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ตามที่กระทรวง ICT เสนอ แล้ว โดยได้เห็นชอบตามแนวทางที่กระทรวง ICT เสนอ ที่มีเป้าหมายให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน โดยให้ บมจ. ทีโอที เป็นผู้นำในการลงทุนโครงข่ายภายในประเทศ และให้ บมจ. กสท เป็นผู้นำในการลงทุนโครงข่ายระหว่างประเทศ โดยสำหรับกลุ่มธุรกิจอื่น ได้แก่ IDC (Internet Data center) และ Cloud ให้มีการ Spin-off ธุรกิจไปดำเนินการร่วมกัน ทั้งนี้ จะมีการจัดตั้งคณะทำงานฯ ขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อกำกับให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ดำเนินการให้เป็นไปตามแผน และรายงานความคืบหน้าให้ คนร. ทราบต่อไป
2.2 บกท.
คนร. ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ บกท. ในไตรมาสที่ 1 ปี 2559 โดยได้กำหนดตัวชี้วัดในปี 2559 ของ บกท. ในเรื่องของกำไรจากการดำเนินการ การลดค่าใช้จ่าย การจัดการทรัพย์สินที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือครอง รวมทั้ง การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่สามารถเทียบเคียงได้กับสายการบินชั้นนำโดยเน้นให้เกิดความยั่งยืน และให้นำตัวชี้วัดข้างต้นไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดคณะกรรมการ ผู้บริหาร และกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
2.3 ขสมก.
คนร. ได้รับทราบการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาของ ขสมก. ซึ่งได้มีการปรับ แผนการจัดหารถโดยสาร จำนวน 3,183 คัน โดยจะแบ่งเป็น การจัดหารถ NGV 489 คัน และรถไฟฟ้า 500 คัน และการปรับปรุงสภาพรถเดิม 672 คัน และใช้รถเดิม 1,522 คัน โดยในเรื่องของการจัดหารถไฟฟ้า 500 คัน ขสมก. จะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ คนร. ได้กำหนดตัวชี้วัดสำหรับการประเมินผลคณะกรรมการ ผู้บริหาร ของ ขสมก. รวมทั้งกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ในเรื่อง
2.3.1 การจัดหารถโดยสารให้เป็นไปตามแผน
2.3.2 การลดผลขาดทุนระหว่างเดือน เมษายน-กันยายน 2559 ให้ไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน มกราคา-มีนาคม 2559
2.3.3 การปรับปรุงอู่จอดรถและการจัดทำแผนการเดินรถร่วมกับกรมการขนส่งทางบก
2.4 รฟท.
คนร. ได้รับทราบการดำเนินการตามข้อสั่งการ คนร. ในการแก้ไขปัญหาของ รฟท. ในปี 2559 และได้กำหนดตัวชี้วัดในเรื่อง 1) การส่งมอบพื้นที่ย่านมักกะสัน 2) การจัดการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และ ARL 3) การก่อสร้างรถไฟทางคู่ และ 4) การบริหารที่ดินของ รฟท. โดยได้กำหนดให้ รฟท. ดำเนินการทยอยส่งมอบพื้นที่ย่านที่ส่งมอบให้กระทรวงการคลังโดยด่วน และให้ รฟท. และกระทรวงคมนาคม ทำแผนงานโดยละเอียดในการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ รฟท. ภายใน 30 วัน สำหรับโครงการ ARL ให้เอกชนเป็นผู้บริหารจัดการทั้งโครงการ
นอกจากนี้ ให้กระทรวงคมนาคมกำหนดยุทธศาสตร์ในการคมนาคมของประเทศในภาพรวมให้แล้วเสร็จ ภายใน 1 เดือน ทั้งนี้ให้นำตัวชี้วัดดังกล่าวเพื่อใช้ในการประเมินคณะกรรมการ ผู้บริหาร และกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.5 ธพว.
คนร. ได้รับทราบการดำเนินการแก้ไขปัญหาของ ธพว. และได้กำหนดตัวชี้วัดในเรื่อง 1) บริการจัดการ NPLs ให้เหลือไม่เกิน 18,000 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 2) ปล่อยสินเชื่อให้ SMEs รายย่อย (รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 ได้จำนวน 35,000 ล้านบาท และ 3) ดำเนินการปรับปรุง การดำเนินการ ตามความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทยในรายงานการตรวจสอบ ธพว.
ทั้งนี้ให้นำตัวชี้วัดข้างต้นไปกำหนดเป็นตัวชี้วัดคณะกรรมการ ผู้บริหาร และกระทรวงเจ้าสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป