กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ "ใต้ร่มพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" ว่า กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ "ใต้ร่มพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" ระหว่างวันที่ 20 – 24 เมษายน 2559 ณ บริเวณท้องสนามหลวง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทย รำลึกถึงวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ 234 ปี ในวันที่ 21 เมษายน 2559 และเป็นโอกาสที่พสกนิกรจะได้ร่วมถวายความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทั้ง 9 พระองค์ ซึ่งนำกิจกรรมทางศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ในมิติต่างๆมานำเสนอ เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้คนในสังคมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมของสังคมไทยอันจะนำไปสู่ความรัก ความหวงแหนความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รวมทั้งเป็นการแสดงความพร้อมการเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาเซียน เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ในความเหมือนและแตกต่างในเรื่องของวิถีชีวิต วัฒนธรรมของประชาชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
นายวีระ กล่าวต่อว่า ตลอดการจัดงานทั้ง 5 วัน กระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมจัดกิจกรรมหลักๆ จำนวน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 กิจกรรมที่จัดบริเวณท้องสนามหลวง ประกอบด้วย พิธีทางศาสนา ได้แก่ พิธีบวงสรวงเทพยดาและดวงวิญญาณสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ยาธิราชเจ้า ในวันที่ 20 เม.ย. การทำบุญตักบาตร สักการะศาลหลักเมือง และการสักการะพระปฐมบรมราชานุสาวรีย์ และพิธีทางศาสนามหามงคล 5 ศาสนา ในวันที่ 21 เม.ย. ไหว้พระ 9 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 9 รัชกาล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และเข้าวัดปฏิบัติธรรม ได้แก่ วัดพระเชตุพลวิมล มังคลาราม วัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสาราม วัดราชประดิษสถิตมหาสีมาราม วัดเบญ- จมบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดสุทัศนเทพวราราม และวัดพระราม 9 กาญจนภิเษก โดยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. และสามารถขึ้นรถที่จัดเตรียมไว้ให้ได้ที่หน้าวัดทั้ง 9 วัด โดยจุดปล่อยรถจุดแรกจะอยู่ที่บริเวณสนามหลวง ด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งได้มีการนำการแสดงถึงความเป็นไทยจากทุกภูมิภาคของไทยมาแสดงบนเวทีกลาง และเวทีย่อยทั้ง 2 เวที อาทิ การแสดงโขน โดยกรมศิลปากร การแสดงดนตรีนาฏศิลป์ การแสดงลีลาส โดยวงสุนทราภรณ์ การแสดงคอนเสิร์ตศิลปินแห่งชาติ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ,ผ่องศรี วรนุช
การจัดจำหน่ายจำหน่ายของดีบ้านฉัน ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สะท้อนภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กว่า 500 บูธ ลานวิถีไทย การแสดงพื้นบ้าน เป็นกิจกรรมบันเทิงที่แฝงไว้ด้วยสัญลักษณ์ อันเนื่องด้วยวัฒนธรรมและประเพณี สะท้อนวิถีชีวิตและความเชื่อของสังคมที่สืบทอดมาแต่โบราณ เช่น กระบี่กระบอง การละเล่นเสือกินวัว วิถีชีวิตชุมชนรัตนโกสินทร์ เป็นการจำลองวิถีชีวิตชุมชนที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และมีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบสานและเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม เช่น ชุมชนบางลำพู การสาธิตการทำอาหารข้าวหมกไก่ และขนมไทย ขนมเบื้องไทย เป็นต้น การประกวดกุลสตรีศรีรัตนโกสินทร์ เพื่อแสดงถึงความงดงามและงามอย่างมีคุณค่าของกุลสตรีไทย จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งในและนอกประเทศ
ส่วนที่ 2 การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมอาเซียน นำเสนอความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันแสดงถึงอัตลักษณ์ของอาเซียน ความเป็นภูมิภาคที่มีรากวัฒนธรรมเดียวกันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้มรดกร่วมทางศิลปวัฒนธรรม สร้างการยอมรับในความต่าง ความคล้าย และความเหมือนท่ามกลางหลากหลายในอาเซียน รวมทั้งความตระหนักในการเป็นประชาคมอาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ผ่านกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ 9 กิจกรรม ได้แก่ 1.มหกรรมรามายณะอาเซียน ที่โรงละครแห่งชาติ โดยคณะนักแสดงกว่าร้อยคน จาก 8 ประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และอินเดีย 2.การแสดงแฟชั่นโชว์ "สานต่อผ้าอาเซียนเปลี่ยนภูมิปัญญาให้ร่วมสมัย" ที่บริเวณท้องสนามหลวง 3.การจัดแสดง สาธิต และจำหน่าย "งานหัตถศิลป์ถิ่นอาเซียน" ที่บริเวณท้องสนามหลวง 4.มุมถ่ายภาพกับ "เมืองจำลองอาเซียน" ที่บริเวณท้องสนามหลวง 5.ครัวอาเซียน "ลิ้มรสอาหารอาเซียน" ที่บริเวณท้องสนามหลวง 6.นิทรรศการและสาธิต "ว่าวอาเซียน" ที่บริเวณท้องสนามหลวง 7.ภาพยนตร์คลาสสิกแห่งอาเซียน ที่บริเวณท้องสนามหลวง เป็นการจัดฉายภาพยนตร์จากประเทศสมาชิกอาเซียน คัดเลือกจากภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ รวมทั้งการจัดฉายภาพยนตร์คลาสสิกอมตะเป็นที่ยอมรับในวงการภาพยนตร์ ซึ่งจัดที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิร์ล ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และภูมิภาคที่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ 8.นิทรรศการ "รากแห่งวัฒนธรรมอาเซียน" จัดแสดงศิลปวัตถุของอินโดนีเซียและกัมพูชา ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และจัดแสดงถึงความหลากหลายทางด้านมหกรรมอาเซียน 3 ห้อง ได้แก่ ห้องที่ 1 ศิลปะเอเชีย และการก่อกำเนิดรัฐโบราณในประเทศไทย ในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ห้องที่ 2 ลพบุรี หรือ เขมรในประเทศไทย แสดงหลักฐานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมทั้งที่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
และห้องที่ 3 ประติมากรรมศิลปะชวา แสดงศิลปะโบราณวัตถุศิลปะชวา และ9.การสัมมนา "อัตลักษณ์ร่วมในวรรณกรรมอาเซียน" บูรณาการองค์ความรู้และแนวคิดในการปฏิบัติงานด้านภาษาและวรรณกรรมกับ งานวิชาการที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณกรรมของประเทศต่าง ๆ ในประชาคมอาเซียนให้เป็นที่เข้าใจและแพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ขอเชิญชวนประชาชาชนร่วมงาน "ใต้ร่มพระบารมี 234 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" ระหว่างวันที่ 20 – 24 เม.ย. นี้ ณ บริเวณท้องสนามหลวง โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิร์ล ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และส่วนภูมิภาคที่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. สายด่วนวัฒนธรรม 1765