กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรทั้งสองหน่วยงาน ได้คาดการณ์ลักษณะภูมิอากาศในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 โดยจะมีฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม จะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นไปตามปกติของฤดูฝน จากนั้นจะมีฝนตามปกติ และจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม คาดว่าในช่วงปลายฤดูฝน อาจมีพายุจรพัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยได้ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะมีการเร่งประชุมคณะทำงานฯ ที่มีนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อหารือแนวทางดำเนินการ ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 11,117 ล้านลูกบาศก์เมตร กรณีที่ไม่มีฝนตกลงมา ปริมาณน้ำดังกล่าวจะสามารถสนับสนุนการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ได้อย่างเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2559 ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน ปี 2559 เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ มีเพียงพอใช้ตลอดในช่วงฤดูฝน 2559 รวมทั้ง เก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า กรมชลประทาน ได้ดำเนินการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยจะใช้น้ำชลประทานเสริมในกรณีฝนทิ้งช่วงเท่านั้น นอกจากนี้ จะบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบและอาคารชลประทาน รวมไปถึงการดำเนินการเก็บกักน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักน้ำต่ำสุด (Lower Rule Curve ; LRC) ตามช่วงเวลา เพื่อความมั่นคงด้านการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ
ด้านนายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์น้ำว่า ในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) จะมีน้ำใช้การได้เพียง 1,750 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ไม่สามารถสนับสนุนภาคการเกษตรได้ ต้องสำรองน้ำไว้ให้มากที่สุด และสนับสนุนการใช้น้ำด้านการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่าที่จำเป็น การเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก โดยใช้กลไกของระบบและอาคารชลประทาน ในการจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งแยกได้ 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มต่ำ ประมาณ 1.4 ล้านไร่ แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนปี 2559 ส่วนในพื้นที่ดอน ที่มีพื้นที่ประมาณ 6.2 ล้านไร่ จากการจำลองสถานการณ์ฝน พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา จะมีปริมาณน้ำมากพอ จึงแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ในส่วนของลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งใช้น้ำต้นทุนจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ คาดการณ์ว่า ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 จะมีน้ำใช้การได้ร่วมกันประมาณ 1,516 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในปีนี้คาดว่าปริมาณน้ำต้นทุนและปริมาณน้ำท่า จะเพียงพอ จึงแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ตามปกติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เป็นต้นไป
สำหรับพื้นที่โครงการชลประทานอื่นๆ การเพาะปลูกพืชฤดูฝน ขอให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมการประชุม จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2559 นี้ ส่วนพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ขอแนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ฤดูฝนจะแตกต่างจากภาคอื่น แนะนำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ ประมาณเดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นไป