กทม. เตรียมพัฒนาพื้นที่ย่านชุมชนเขตสัมพันธวงศ์

ข่าวทั่วไป Wednesday January 17, 2001 15:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--กทม.
ที่โรงแรมแกรนด์ไชน่า เขตสัมพันธวงศ์ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการวางผังเฉพาะแห่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์พื้นที่บริเวณย่านชุมชนเขตสัมพันธวงศ์ โดยมี นายศิริ เปรมปรีดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายนิคม ไวยรัชพานิช ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนชุมชน ในเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมสัมมนา
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิวัฒนาการมายาวนานกว่า 200 ปี และเป็นเมืองที่ยังคงมีการเจริญเติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะเดียวกันในพื้นที่บริเวณเขตเมืองชั้นในที่ได้มีการพัฒนามาเป็นเวลานาน ตั้งแต่ครั้งสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีสภาพเสื่อมโทรมลง สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร จึงได้มีโครงการจัดทำแผน เพื่อฟื้นฟูบริเวณเขตเมืองชั้นใน ที่ยังคงมีเอกลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย มีคุณค่าต่อชุมชนและประเทศ โดยใช้ชื่อว่า “โครงการวางผังเฉพาะแห่งในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์” และได้เริ่มโครงการโดยมอบหมายให้สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นผู้ดำเนินการศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ.2540 โดยเริ่มที่บริเวณชุมชนท่าช้าง — ท่าพระจันทร์ ชุมชนท่าเตียน และชุมชนปากคลองตลาดก่อน ต่อมาได้มีการศึกษาในพื้นที่ชุมชนสามแพร่ง ได้แก่ ชุมชนแพร่งนรา แพร่งภูธร และแพร่งสรรพศาสตร์ รวมทั้งชุมชนเขตสัมพันธวงศ์ที่ได้จัดให้มีการสัมมนาในครั้งนี้ การจัดทำแผนเพื่อฟื้นฟูบริเวณชุมชนสัมพันธวงศ์ ได้มอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นผู้ดำเนินการศึกษา เพื่อให้แผนรายละเอียดสามารถดำเนินการได้จริง เป็นที่ยอมรับของชุมชนและท้องถิ่น กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดกรอบของการศึกษา โดยให้ชุมชนและส่วนท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของแผน และสำนักผังเมืองก็ได้มีการประสานงานให้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายท้องถิ่นด้วยหลายครั้ง ทำให้ผู้ดำเนินการศึกษา ได้ข้อมูลในระดับท้องถิ่นและชุมชนอย่างแท้จริง การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเสนอผลงานขั้นสุดท้ายเพื่อที่จะนำข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่โครงการไปปรับแผนให้เป็นไปตามความคิดเห็นของที่ประชุมต่อไป
ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง กล่าวต่อว่า การพัฒนาพื้นที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นั้น กทม.จะพยายามใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด และให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยขอความร่วมมือ รวมถึงสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาให้กับผู้ครอบครองอาคารซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้า เช่น หากเจ้าของอาคารที่ทรุดโทรมต้องการก่อสร้าง ปรับปรุงอาคารใหม่ และยินยอมก่อสร้างอาคารให้มีพื้นที่จอดรถมากขึ้น หรือปรับพื้นที่ว่างให้เป็นสวนหย่อม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนส่วนรวม กทม.ก็จะเสนอผลตอบแทนในรูปการลดหย่อนภาษีโรงเรือนหรือภาษีป้าย ทั้งนี้กทม.จะประสานขอความร่วมมือให้กรมศิลปากรควบคุมในด้านรูปแบบการปรับปรุงอาคารด้วย หากดำเนินการพัฒนาพื้นที่แล้วเสร็จตามโครงการ อาคารต่าง ๆ ที่มีอายุยาวนานและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในย่านนี้ก็จะได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกแบบแผนจนถึงอนุชนรุ่นหลัง เป็นการอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากที่อื่น ที่สำคัญยังเป็นการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจการค้าในพื้นที่อีกด้วย
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การที่สำนักผังเมืองจัดการสัมมนาเพื่อระดมความคิดจากทั้งส่วนราชการ คือ กทม. นักวิชาการผู้จัดทำโครงการศึกษา ตลอดจนประชาชนเจ้าของพื้นที่นั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่จะทำให้โครงการสำเร็จผลเป็นรูปธรรม เพราะการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์จะมีอุปสรรคทั้งทางระเบียบกฎหมายและงบประมาณ จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาทางวิชาการเพื่อวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบประกอบกับการมีส่วนร่วมของชุมชนซึ่งถือเป็นผู้มีประสบการณ์ในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ชุมชนในย่านเยาวราช เจริญกรุง เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง เนื่องจากประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สืบทอดความเป็นเจ้าของพื้นที่ต่อมาจากบรรพบุรุษ ไม่ได้ย้ายมาจากที่อื่น จึงเป็นชุมชนที่ฝังรากลึก มีความรู้สึกรักถิ่นฐาน และมีความรับผิดชอบต่อชุมชนมาก ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่โดยอาศัยความร่วมมือและเสียสละจากชุมชน จึงมีโอกาสเป็นไปได้สูง--จบ--
-นศ-

แท็ก ข้าราชการ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ