กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--อย.
อย. เพิ่มกลวิธีคุ้มครองผู้บริโภค โดยสนับสนุนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 11 องค์กร จัดทำโครงการรวมพลังผู้บริโภคครั้งที่ 2 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค ในการเฝ้าระวังและติดตามผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข เน้นรวมพลังต้านสินค้าสุขภาพผิดกฏหมายให้หมดไปจากตลาด ตลอดจนรณรงค์ให้ความรู้กับผู้บริโภคในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่ามีความปลอดภัยและเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน -13 ธันวาคม 2543 ครอบคลุมพื้นที่กลุ่มเป้าหมายทุกภาครวมพลังผู้บริโภคทั่วประเทศไทย
วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2543) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร์ ชั้น 1 ตึกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา น.พ.วิชัย โชควิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วย น.พ.ประวิทย์ สี่สถาพรวงษา เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.นรินทร์ชัย พัฒนพงษา ตัวแทนภาคเหนือ นายวิชาญ เพชรรัตน์ ตัวแทนภาคใต้ อาจารย์นิรันดร์ กุลฑานันท์ตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น.พ.วชิระ บถพิบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ ที่ปรึกษาชมรมเภสัชชนบท และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่าจากการที่ อย. เป็นหน่วยงานที่คุ้ครองผู้บริโภคให้ได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตราย วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษ และสารระเหย) ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัย ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าอ.ย.ได้มีการจัดทำโครงการ กิจกรรมต่างๆ เพื่อควบคุมกำกับดูแลคุณภาพได้มาตราฐาน ของผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งออกสำรวจตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหา และประชาสัมพันธ์ข่าวสารความรู้ต่างๆ ในความรับผิดชอบ ของ อย. ผ่านทางสื่อมวลชนทุกแขนง เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถเลือกซื้อเลือกบริโภค ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐ ผู้บริโภค รวมทั้งองค์การผู้บริโภค ดังนั้น จึงได้มีการร่วมมือกันระหว่าง อย. กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค 11 องค์ก่ร จัดทำโครงการรวมพลังผู้บริโภคครั้งที่ 2 "รวมพลังต้านสินค้าสุขภาพผิดกฎหมาย" ซึ่งจะจัดงานระหว่งวันที่ 23 พฤศจิกายน -13 ธันวาคม 2543 โดยมีพื้นที่ดำเนินการทุกภาครวม 9 จังหวัด เริ่มจากภาคกลาง จัดที่ กรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ จัดที่เชียงใหม่ และเชียงราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดที่ บุรีรัมย์มหาสารคาม และขอนแก่น ส่วนภาคใต้ จัดที่เพชรบุรี สงขลา และ สุราษฎร์ธานี ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฏหมายหมดไปจากตลาด สร้างความรู้ความเข้าใจ รณรงค์และเผยแพร่ต่อผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมและมีบทบาทในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคมากขึ้น โดยมีกิจการรมที่สำคัญ ได้แก่การจัดอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "ทำอย่างไรให้สินค้าสุขภาพผิดกฎหมายหมดไปจากท้องตลาด" การรณรงค์ การสาธิตและการตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม และจุลินทรีย์ ตรวจสารเตียรอยด์ในยาสมุนไพร นอกจากนี้ยังมีการจดันิทรรศการ การแสดงศิลปะวัฒนะธรรมพื้นบ้าน การจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน การโชว์สินค้าสุขภาพผิดกฎหมาย เป็นต้น
อย.และผู้ร่วมงานทุกฝ่ายหวังว่า การรณรงค์และให้ความรู้กับผู้บริโภคในครั้งนี้ จำทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพ และมีส่วนร่วมในการพิทักษ์สิทธิของตนเองในอนาคต และร่วมรวมพลังต่อต้านผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายให้หมดไปจากท้องตลาด สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทย--จบ--
-อน-