กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง
อะโดบีเปิดเผยข้อมูลผลการศึกษาในหัวข้อ 'ห้องเรียนเชิงสร้างสรรค์ผ่านความร่วมมือทางด้านดิจิตอล' (Creative Classrooms Through Strong Digital Partnerships) ที่งานสัมมนา Adobe Education Leaders Seminar ประจำปี 2559 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย นักการศึกษากว่า 1,300 คนทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ได้ตอบแบบสอบถามสำหรับรายงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินความสำคัญของทรัพยากรดิจิตอลในด้านการเรียนรู้ รวมถึงบทบาทในการขับเคลื่อนการติดต่อสื่อสาร การสร้างชุมชน และการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน
ด้วยการมาถึงของยุคดิจิตอล พนักงานในปัจจุบันและอนาคตจำเป็นที่จะต้องมีทักษะที่แตกต่างหลากหลายมากกว่าพนักงานรุ่นก่อนหน้า ทุกวันนี้ สถานศึกษาประสบปัญหาท้าทายในการนำเสนอหลักสูตรที่เสริมสร้างทักษะทางด้านดิจิตอลและมุ่งเน้นความสำเร็จ ซึ่งมอบประสบการณ์การเรียนรู้รอบด้าน เพื่อช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์หลายหน้าจอ (multiscreen devices) และ Internet of Things (IoT) ด้วยเหตุนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 80 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า "การเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนด้วยการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิตอลจำเป็นต่อความสำเร็จ และถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุด" เพื่อก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านดิจิตอล
นอกจากนั้น สถานศึกษาจำเป็นที่จะต้องรองรับผู้เรียนรุ่นใหม่ซึ่งเกิดมาในยุคดิจิตอล หรือที่เรียกว่า "Digital Native" ในแง่นี้ การปรับใช้เครื่องมือสื่อสารดิจิตอลที่ช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถสร้างและนำเสนอประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมแพลตฟอร์มและช่องทางสื่อที่หลากหลาย จะช่วยดึงดูดผู้เรียนได้อย่างดีเยี่ยม อย่างไรก็ตาม การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรที่เหมาะสม ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของนักการศึกษาในเอเชีย-แปซิฟิกเชื่อว่า ความร่วมมือทางด้านดิจิตอลที่แข็งแกร่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการเชื่อมโยงกับผู้เรียนและทำให้การเรียนรู้มีความน่าสนใจและสนุกมากขึ้น นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังเน้นย้ำถึงข้อกังวลใจและอุปสรรคที่สำคัญต่อการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในสถานศึกษา นักการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรู้สึกว่า การพัฒนาโครงการแบบผสมผสานสำหรับการคิดวิเคราะห์และการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (75 เปอร์เซ็นต์) และการสร้างเนื้อหาการเรียนรู้แบบอินเทอร์แอคทีฟที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน (74 เปอร์เซ็นต์) เป็นสองอุปสรรคสำคัญที่จะต้องเอาชนะ เพื่อที่จะพัฒนาโครงการการเรียนรู้ทางด้านดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพ
นายโทนี่ แคตซาบาริส ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการศึกษาและภาครัฐประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของอะโดบี กล่าวว่า "องค์กรธุรกิจดิจิตอลกำลังขับเคลื่อนนวัตกรรมทางด้านเทคนิค และเทรนด์ของดิจิตอลในขอบเขตที่กว้างขึ้น นับเป็นเรื่องจำเป็นที่สถานศึกษาจะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับโลกภายนอก และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้ประสบความสำเร็จหลังจากที่จบการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น สถานศึกษากำลังเผชิญกับแรงกดดันในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ทรัพยากรทางด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย และการปรับใช้หลักสูตรที่เกี่ยวข้อง การเสริมสร้างความสำเร็จด้วยประสบการณ์ดิจิตอลที่ก้าวล้ำโดยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ถูกระบุว่า เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับนักการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดหวังว่าอะโดบีจะจัดหาทรัพยากรและหลักสูตรการเรียนการสอนที่จำเป็นสำหรับสิ่งนี้"
นายคาลิสทัส ชอง ผู้อำนวยการภาควิชาการออกแบบและสื่อของ Institute of Technical Education ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า "ความรู้ทางด้านดิจิตอลจะเปิดประตูสู่ความรู้และตลาดแรงงานในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาทักษะทางด้านดิจิตอล ทั้งในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการแสดงความเห็น การแลกเปลี่ยนแนวคิดผ่านช่องทางดิจิตอล และเพิ่มพูนทักษะด้านการสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ ผู้เรียนจะทำงานต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีความพร้อมสำหรับความสำเร็จทางด้านอาชีพการทำงาน"
ใน 3 ปีข้างหน้า นักการศึกษาใน APAC จะมุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อย่างรอบด้านซึ่งจะช่วยปรับปรุงผลการเรียนและการประเมินผล และการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนด้วยทักษะทางด้านดิจิตอลที่จำเป็นเพื่อให้ประสบความสำเร็จ
ผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวเป็นเครื่องยืนยันถึงความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับภาคการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของการรองรับห้องเรียนแห่งอนาคต การสร้างแรงบันดาลใจและเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้เรียน รวมไปถึงนักการศึกษาและสถานศึกษาอื่นๆ ด้วยเครื่องมือดิจิตอลและหลักสูตรที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการจัดหาเทคโนโลยีดิจิตอลและทักษะทางด้านดิจิตอล เพื่อปรับปรุงสัมฤทธิผลทางการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน
รายงานผลการศึกษาโดยละเอียดและอินโฟกราฟิกสามารถดาวน์โหลดได้จาก: http://bit.ly/edureport16