กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
GSK เตรียมปรับแนวทางการขอรับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศ โดยจะพิจารณาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
GSK จะไม่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาในกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดและมีรายได้น้อย
GSK จะอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำสามารถผลิตยาของ GSK ในรูปแบบยาสามัญได้
GSK วางแผนจะนำสิทธิบัตรยารักษาโรคมะเร็งในอนาคตมาร่วมในระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (Patent Pool) เพื่อลดการสูญเสียจากวิกฤตโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา
GSK มุ่งมั่นจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายการยาที่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรของ GSK โดยเสรี
เซอร์ แอนดรูว์ วิตตี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น หรือ GSK เปิดเผยในการประชุมของคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเข้าถึงยาถึงเจตนารมณ์ของ GSK ในการสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยานวัตกรรมของ GSK ได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น GSK มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมด้านสุขภาพ โดยการพัฒนายานวัตกรรมและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาของประชาชนในทั่วโลก ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 8 ปีที่ GSK ได้วางแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุในเจตนารมณ์ดังกล่าว ทั้งการกำหนดราคายาตามรายได้ประชาชาติของแต่ละประเทศ การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ การเปิดเผยข้อมูลงานวิจัยเพื่อการแบ่งปันโดยเสรี และการเป็นพันธมิตรเพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม
GSK ตระหนักดีว่า การเพิ่มการเข้าถึงยาในทั่วโลกจะต้องใช้มาตรการที่ยืดหยุ่นด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เพราะจะช่วยขจัดปัญหาด้านสุขภาพในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาได้ ถึงแม้ว่าการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง GSK จึงจะใช้มาตรการยืดหยุ่นในการขอรับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในแต่ละประเทศ โดยจะพิจารณาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพและส่งเสริมการเข้าถึงยา โดย GSK จะไม่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรยาของ GSK ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่สุดและกลุ่มประเทศรายได้น้อย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตยาสามัญในประเทศเหล่านี้สามารถผลิตยาสามัญภายใต้เครื่องหมายการค้าอื่นได้
สำหรับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำนั้น GSKจะยังคงความคุ้มครองด้านสิทธิบัตร แต่จะอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญสามารถผลิตยาสามัญภายใต้เครื่องหมายการค้าอื่นในประเทศเหล่านั้นเป็นเวลา 10 ปี โดย GSK จะรับค่าตอบแทนการใช้สิทธิบัตรเพียงเล็กน้อยจากผู้ที่ใช้สิทธิในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำรวมถึงประเทศที่เคยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำที่ปัจจุบันมีสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
สำหรับกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง และกลุ่มประเทศจี 20 นั้น GSK จะขอรับความคุ้มครองทางสิทธิบัตรอย่างเต็มที่ ยาของ GSK ทุกตัวที่อยู่ในรายการยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลกจะถูกรวมอยู่ในการเปลี่ยนแปลงนี้
นอกจากนี้ GSK วางแผนจะนำสิทธิบัตรยารักษาโรคมะเร็งในอนาคตมาร่วมในระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตร (Patent Pool) และจะขยายแนวความคิดระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (Medicines Patent Pool: MPP) ในการรับมือกับวิกฤตโรคมะเร็งในประเทศกำลังพัฒนา โดย GSK นับเป็นบริษัทยารายแรกที่แสดงเจตนารมณ์นี้ อนึ่ง การก่อตั้งระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (MPP) เมื่อปี พ.ศ.2553 ช่วยเพิ่มการเข้าถึงยารักษาเชื้อเอชไอวี วัณโรค และไวรัสตับอักเสบชนิด ซี ในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลาง โดยการอนุญาตให้ใช้สิทธิในสิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญาโดยความสมัครใจ การขยายมาตรการผ่อนปรนเกี่ยวกับสิทธิบัตรยารักษาโรคมะเร็งที่ในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยทางคลินิก จะส่งเสริมให้มีศักยภาพในการพัฒนาและผลิตยาในการต่อต้านมะเร็งของ GSK ในรูปแบบยาสามัญเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่สุดและกลุ่มประเทศรายได้น้อย รวมทั้งในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางบางประเทศ โดยจะดำเนินการทันทีที่ยาผ่านขั้นตอนการขึ้นทะเบียน
GSK ยังได้จัดเตรียมที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายการยาที่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรในปัจจุบันและในอนาคต อย่างแพร่หลาย
เซอร์ แอนดรูว์ วิตตี้ กล่าวว่า การคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญานับเป็นส่วนที่สำคัญของการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในส่วนของการวิจัยเพื่อคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่จะช่วยผู้คนทั่วโลกได้
"ทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยารักษาโรค แต่เราตระหนักดีว่า ความท้าทายด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีความสำคัญและทำให้เราต้องสร้างความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและปรับเปลี่ยนหาแนวทางที่เหมาะสมในแต่ละกรณี โดยเฉพาะในปัจจุบันปัญหาด้านสุขภาพที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นได้เปลี่ยนจากโรคติดเชื้อเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแทน ซึ่งเราจะยังคงมองหาแนวทางต่าง ๆ ที่ GSK จะสามารถสนับสนุนการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาอย่างต่อเนื่อง
"จากประสบการณ์ของ GSK ที่เคยใช้ระบบร่วมใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (Medicines Patent Pool: MPP) ในยา รักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีตัวล่าสุด และเป็นหนึ่งในยารักษาโรคที่ประสบความสำเร็จของเราช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเราว่า การเพิ่มการเข้าถึงยา แรงจูงใจในการพัฒนายานวัตกรรมและความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจเป็นเรื่องที่สามารถทำร่วมกันได้ โดยการปรับเปลี่ยนทั้งหลายที่เรากำลังดำเนินการอยู่นี้จะเป็นวิธีการที่ชัดเจนและไม่ซับซ้อนสำหรับผู้ผลิตยาสามัญในการผลิตยาสามัญที่เทียบเท่ายาดั้งเดิมของ GSK ให้กับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาที่สุด กลุ่มประเทศรายได้น้อยและกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ"
"การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกี่ยวกับระบบสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่สามารถแก้ปัญหาด้านสุขภาพต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น การรักษาโรคมะเร็งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังต้องการเงินทุน ที่มากขึ้น การคัดกรองและวินิจฉัยโรคที่ดีขึ้น จำนวนแพทย์ที่รักษาโรคมะเร็งมากขึ้น การบริการของโรงพยาบาลที่ดีขึ้น รวมทั้งการเข้าถึงการรักษา อย่างไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่า มาตรการต่างๆ ที่เรากำลังพยายามวางแนวทางอยู่ในขณะนี้ ผนวกกับการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ของ GSK จะสามารถช่วยเพิ่มการเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพที่มีประสิทธิภาพในทั่วโลกนี้ได้" เซอร์ แอนดรูว์ วิตตี้ กล่าว
GSK จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ สอดคล้องกับกฏหมายของประเทศต่าง ๆ ทั้งนี้ GSK ได้ปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องด้านใบอนุญาต และพันธมิตร เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นี้
อนึ่ง การประชุมของคณะผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเข้าถึงยา โดยมีนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติเป็นประธาน ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมสุขภาพ สาธารณสุข สิทธิมนุษยชน และกฏหมาย มาร่วมศึกษาแนวทางต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและการเข้าถึงการรักษาสุขภาพทั่วทุกมุมโลก