กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ปตท.
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกชนิด น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.75เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในส่วนของราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกา สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 Rig มาอยู่ที่ 343 Rig และลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 51.2 %
· การประท้วงของพนักงานบริษัท KPC ในคูเวตกระทบการผลิตน้ำมันดิบของคูเวต ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.59 ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงทันทีประมาณ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดีการประท้วงยุติลงในวันที่ 20 เม.ย. 59 และแหล่งผลิตน้ำมันดิบล่าสุดกลับมาดำเนินการที่ระดับเดิมที่ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 23 เม.ย. 59 อนึ่งการประท้วงสร้างความเสียหายกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
· นาย Fatih Birol, Executive Director ของ International Energy Agency (IEA) เผยมุมมองตลาดน้ำมันจะกลับมาสู่ดุลยภาพปลายปี พ.ศ. 2559 หรือภายในปี พ.ศ. 2560 โดยคาดปริมาณการผลิตจากกลุ่มผู้ผลิต Non-OPEC จะลดลงจากปีก่อน 700,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 25 ปี จากในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันปรับตัวลดลงกว่า 40 %
· Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่ง North Sea ในทะเลเหนือในเดือน พ.ค. 59 ลดลง50,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยในเดือน มิ.ย. 59 ปริมาณการผลิตจะลดลงอีก 280,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิต Ekofisk
· ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ซึ่งต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งยังมีมติคงวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบไม่มีกำหนดระยะเวลา (Open- Ended) ไว้ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 15 เม.ย. 59 เพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล ( น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินที่ 2.4 ล้านบาร์เรล) มาอยู่ที่ระดับ538.6 ล้านบาร์เรล
· OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 150,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตของอิหร่านก่อนถูกคว่ำบาตรอยู่ที่ 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· Bloomberg รายงานโครงการเพิ่มกำลังการผลิตแหล่งน้ำมันดิบ Shaybah ของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Aramco) จาก 750,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 1,000,000 บาร์เรลต่อวัน มีกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค. 59 อนึ่งน้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวเป็นน้ำมันดิบชนิดเบามีค่า
API 42
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์ก่อนเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดของปี 2559 และสถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) สัญญาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน แม้ว่าการประชุมเพื่อคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตรายใหญ่ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 เม.ย.59 ไม่บรรลุผล ทว่าราคาได้รับแรงหนุนจากอุปทานขาดหายฉับพลันของคูเวต (ล่าสุดกลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว) และนักลงทุนเริ่มเชื่อมั่นว่าปัจจัยพื้นฐาน (อุปสงค์/อุปทาน) กำลังเริ่มปรับสู่ภาวะสมดุล อย่างไรก็ตาม เกรงว่าอาจมีการเทขายทำกำไรในสัปดาห์นี้ เพราะทิศทางราคาที่ทะยานสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.59 เกิดจากบรรยากาศการลงทุนหรือ Sentiment เป็นหลัก ดังเช่นที่ Goldman Sachs ออกมาย้ำว่าการเพิ่มขึ้นของราคาช่วงนี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของปัจจัยพื้นฐาน ทั้งยังยืนกรานอีกว่าการปรับสู่ภาวะสมดุลจะเกิดขึ้นอย่างเห็นผลเมื่อเข้าสู่ไตรมาส 3/59 นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายสำนักยังเห็นพ้องกันว่าด้วยราคาระดับที่สูงเพียงพอในปัจจุบันจะเอื้อให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ สามารถบริหารความเสี่ยงด้วยการขายสัญญาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าได้ ซึ่งจะทำให้สถานะการขาย (Short Position) เพิ่มขึ้นและกลับมากดดันราคาให้ลดลงในที่สุด ดังเห็นได้จาก EOG Resources Inc. รายงาน Securities and Exchange Commission ของสหรัฐฯ ว่าได้บริหารความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวปริมาณกว่า 8 ล้านบาร์เรล สำหรับไตรมาสที่2/59 ด้วยราคาเฉลี่ย 42.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 52.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ทางด้านเทคนิค ให้จับตาราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ทดสอบระดับแนวต้านสำคัญที่ 46.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดเมื่อเดือน ม.ค. 58 จากที่สัปดาห์ก่อน ICE Brent ได้หลุดจากกรอบ 37.2-44.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังแกว่งตัวอยู่ในกรอบดังกล่าวมาแต่ต้นเดือน มี.ค. 59 ขณะที่ ด้านการเคลื่อนย้ายของเงินทุน (Fund Flows) ให้จับตามติการประชุมของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 28 เม.ย.59 ซึ่งอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ติดลบมากขึ้นจากปัจจุบันที่ -0.1 % และล่าสุดนักลงทุนเริ่มตอบสนองต่อแนวโน้มดังกล่าวแล้ว เห็นได้จากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มแข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น ทางเทคนิคคาดว่า ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ43-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 41-44 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 39-42 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินลดลงจากข่าวสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน รายงานยอดการผลิตน้ำมันเบนซิน ในเดือน มี.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.6% มาอยู่ที่ 93.16 ล้านบาร์เรล ขณะที่สัดส่วนการผลิตเทียบกับน้ำมันสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ (Yield) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2% มาอยู่ที่ 24.41% และโรงกลั่น Kashima ของญี่ปุ่น (กำลังการกลั่น 252,000 บาร์เรลต่อวัน) เริ่มเน้นส่งออกน้ำมันเบนซิน อนึ่ง ตลาดหลักของ JX คือจีนและออสเตรเลีย ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.73 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 16 เม.ย. 59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 600,000 บาร์เรล หรือ 5.3% อยู่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ปลาย มี.ค. 58 อย่างไรก็ตาม S-Oil ของเกาหลีใต้ เผยแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย CDU No.1 ขนาด 90,000 บาร์เรลต่อวัน และ RFCC ขนาด 73,000 บาร์เรลต่อวัน ที่โรงกลั่น Onsan (กำลังการกลั่น 669,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงครึ่งหลังของปี เป็นเวลา 1 เดือน ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจาก Platts รายงาน Kuwait National Petroleum Co. (KNPC)ของคูเวตลดอัตราการเดินเครื่องโรงกลั่นน้ำมันลง 44% อยู่ที่ 520,000 บาร์เรล ในช่วง 17-19 เม.ย. 59 ซึ่งพนักงานนับพันคนหยุดงานประท้วงรัฐบาล และ S-Oil ของเกาหลีใต้ เผยแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย CDU No. 1(90,000 บาร์เรลต่อวัน) และ RFCC (ขนาด 73,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Onsan (669 KBD) ในช่วงครึ่งหลังของปี เป็นเวลา 1 เดือน ขณะที่ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 820,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.56 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 8 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 16 เม.ย. 59 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล หรือ 4.3 % อยู่ที่ 9.2 ล้านบาร์เรล และ Platt รายงานบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียไม่ได้นำเข้า น้ำมันดีเซลตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 ที่ผ่านมา และปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลของอินโดนีเซียเกินความต้องการในประเทศอยู่ 140,000 บาร์เรลต่อวัน ทางเทคนิคคาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 48-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล