กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ซีพีเอฟ
น.สพ.นรินทร์ ร่มลำดวน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สำนักเทคนิคและวิชาการสัตว์บก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนพื้นที่ 53 จังหวัดของประเทศไทย ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีความเสี่ยงที่จะเกิดพายุฤดูร้อน พายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บ ในช่วงวันที่ 21-24 เมษายน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จึงมีคำแนะนำแก่เกษตรกรเลี้ยงสัตว์เพื่อเตรียมป้องกันทรัพย์สินและสัตว์ให้ปลอดภัย และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ เกษตรกรควรสำรวจพื้นที่รอบฟาร์มและทำการตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้หักโค่นมาโดนหลังคาโรงเรือนหรือสายไฟ หากโรงเรือนเลี้ยงสัตว์เป็นโรงเรือนเก่าและไม่แข็งแรง ต้องหาไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันการพังเสียหายจากลมที่พัดแรง และต้องซ่อมแซมหลังคาให้ดีเพื่อป้องกันน้ำฝนที่จะเข้าไปในโรงเรือนได้ ควรปรับปรุงและเสริมความแข็งแรงบริเวณชายคาเพื่อไม่ให้ลมพัดเสียหาย และต้องจัดเก็บอาหารสัตว์ให้มิดชิด
ช่วงก่อนที่จะเกิดพายุฝน สภาพอากาศจะร้อนจัด จึงต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอสำหรับสัตว์ เพื่อไม่ให้สัตว์เกิดความเครียด ขณะเดียวกันต้องมีการระบายอากาศที่ดี ในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์แบบเปิดต้องมีผ้าใบป้องกันฝนที่อาจสาดเข้าไปในโรงเรือน และต้องเพิ่มพัดลมระบายความร้อนให้กับสัตว์
สำหรับการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำ หรือระบบอีแวป เกษตรกรต้องควบคุมการทำงานของพัดลมและเยื่อกระดาษหน้าโรงเรือนให้เหมาะสม และต้องเตรียมเครื่องสำรองไฟและน้ำมันเชื้อเพลิงให้พร้อม สำหรับกรณีไฟดับเพื่อให้พัดลมทำงานได้ตามปกติ
ทั้งนี้ ขณะที่เกิดพายุฝนจะมีลมพัดรุนแรงอาจทำให้หลังคาพังเสียหายและพื้นโรงเรือนเปียกชื้นได้ เกษตรกรต้องรีบทำความสะอาดให้พื้นแห้ง ในกรณีการเลี้ยงไก่เนื้อต้องนำแกลบรองพื้นที่เปียกออกและเปลี่ยนแกลบใหม่ทันที เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดแก๊สแอมโมเนียที่จะกระทบต่อทางเดินหายใจของไก่ ส่วนการเลี้ยงสุกรและไก่ไข่ ต้องทำพื้นให้แห้งและสะอาดทันที และหากมีปัญหาอาหารสัตว์โดยฝนจนเปียกมากไม่ควรนำมาเลี้ยงสัตว์
ภายหลังเกิดพายุฝนแล้ว เกษตรกรต้องสำรวจความเสียหายของโรงเรือน และดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว หากโรงเรือนพังเสียหายต้องรีบย้ายสัตว์เข้าเลี้ยงในโรงเรือนหลังอื่นที่ไม่เสียหายแทน และเน้นการระบายอากาศที่ดี จัดเตรียมน้ำให้เพียงพอ และให้อาหารตามที่สัตว์กินได้ นอกจากนี้ ควรผสมวิตามินละลายน้ำให้สัตว์กินหลังเกิดพายุฝนประมาณ 3-5 วัน เพื่อลดความเครียดของสัตว์.